ชุมชนคือ ‘ครอบครัวใหญ่’ ที่ต้องกลับมาดูแล

เติมเต็มความฝันที่จะเป็นครูเพื่อครอบครัวและท้องถิ่น

Share on

 1,216 

จากพี่คนโตสู่เสาหลักของโรงเรียน: ครูชาวม้งผู้มุ่งมั่นเพื่อพัฒนาสังคม

การเป็นลูกคนโตที่ต้องคอยดูแลน้องทั้งสองคนทำให้ ‘น้องมน’ กมล แซ่ม้า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระในจังหวัดตากได้เรียนรู้และซึมซับบทบาทหน้าที่ในการเป็นครูมาโดยตลอด 

กระทั่งวันที่เธอต้องตัดสินใจครั้งสำคัญอย่างการเลือกเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา เธออาศัยประสบการณ์และความคุ้นชินในฐานะพี่คนโตเป็นแรงผลักดันในการตั้งเป้าหมายชีวิต เธอตั้งใจที่จะเป็นเสาหลักดูแลครอบครัวแทนพ่อแม่ด้วยการกลับมาทำงานในชุมชนบ้านเกิด

น้องมนจึงเลือกเป็นนักศึกษาครูและเข้าร่วมโครงการ ‘ครูรักษ์ถิ่น’ โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเติมเต็มความฝันที่จะเป็นครูของนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้เป็นจริง พวกเขาจะได้เติบโตและเป็นกำลังหลักในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในท้องถิ่นของตนเอง 

วิชาชีพที่มีงานรองรับเมื่อกลับบ้าน

น้องมนเล่าว่าตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เธอตั้งใจไว้ว่าจะดูแลพ่อกับแม่ในฐานะลูกคนโตของบ้าน เธอจึงตั้งเป้าหมายชีวิตว่าจะเลือกเรียนในสายอาชีพที่มีงานรองรับในอนาคต ‘ครู’ เป็นอาชีพแรกที่เธอนึกถึง 

“การเลือกเรียนต่อมีความหมายมากกว่าการเปลี่ยนระดับชั้นเรียน เพราะนี่คือการเลือกอาชีพในอนาคต เราตัดสินใจว่าจะต้องดูแลครอบครัวให้ได้ เพราะพ่อแม่อายุมากขึ้นทุกวัน ส่วนน้องยังเล็กและต้องเรียนหนังสืออีกหลายปีกว่าจะจบ” 

“เมื่อเห็นข่าวประกาศจากโครงการครูรักษ์ถิ่น เราตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะถือเป็นการต่อยอดสิ่งที่ทำมาโดยตลอดอย่างการสอนหนังสือและช่วยน้องทำการบ้าน การได้เป็นพี่คนโตทำให้เราได้มีโอกาสซึมซับทักษะในการสอนและเรียนรู้วิธีการดูแลผู้อื่น การได้มองเห็นพัฒนาการของน้องทำให้เราหลงรักงานสอนโดยไม่รู้ตัว”

กำลังสำคัญในการแก้ปัญหาชุมชน

ว่าที่นักศึกษาครูชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรอธิบายว่าการเป็นครูไม่เพียงแต่จะช่วยเติมเต็มเป้าหมายในการดูแลครอบครัวเล็กๆ ของเธอเท่านั้น แต่ยังเป็นอาชีพที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่เธอต้องการทำให้เป็นจริง 

“ระหว่างที่เรียนชั้นม. 3 เรามีครูประจำชั้นที่ปรึกษาได้ทุกเรื่อง ท่านเป็นครูที่มีเหตุผล แม้เราจะทำผิดพลาด ท่านกลับไม่ใช้อารมณ์และต่อว่า แต่จะคอยให้กำลังใจและตักเตือน แม้กระทั่งช่วงที่เรียนมัธยมปลาย เรายังกลับไปปรึกษาครูหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องที่จะมาสมัครเข้าร่วมโครงการครูรักษ์ถิ่น” 

“ท่านเป็นเหมือนแม่อีกคนที่คอยช่วยแก้ปัญหาเวลาที่เรามืดแปดด้าน ไม่ต่างจากครอบครัวที่คอยช่วยเหลือเราเสมอ เรามองว่าครูแบบนี้จะช่วยให้เด็กไม่เดินไปในทางผิด แม้ในวันที่พลาดพลั้งทำเรื่องไม่ดี เด็กจะกล้าปรึกษากับครู เพราะเขารู้ว่าครูจะเข้าใจ พร้อมให้อภัยและชี้ทางที่ถูกต้อง”

“เราเชื่อว่าหากครูเข้าถึงจิตใจของเด็กๆ ให้ความสนิทสนมใกล้ชิด รู้นิสัยใจคอและความสนใจของเขา สิ่งเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้เขาทำในสิ่งที่อยากทำได้ ทั้งยังเป็นการลดโอกาสที่เขาจะเดินไปในทางที่ผิดระหว่างเผชิญกับปัญหาต่างๆ” 

ไม่มีใครเข้าใจปัญหาในท้องถิ่นได้ดีไปกว่าคนในท้องถิ่น 

น้องมนเผยว่าครูเป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในท้องถิ่น จากประสบการณ์ที่ได้เติบโตในหมู่บ้านชาวม้งที่มีวัฒนธรรมและประเพณีสืบทอดมายาวนาน น้องมนได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่มาพร้อมกับการพัฒนา แม้ผู้คนในหมู่บ้านจะมีชีวิตที่ดีขึ้น มีโอกาสได้เรียนหนังสือหรือทำงานมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับมีปัญหาที่มาพร้อมกับความเจริญทางวัตถุ อย่างกลุ่มวัยรุ่นชั้นมัธยมที่ใช้เวลาไปกับการขี่รถมอเตอร์ไซค์หรือเด็กที่ท้องในวัยเรียน

“เราเป็นชาวม้งจึงเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมเป็นอย่างดี เราตั้งใจจะนำความรู้กลับมาช่วยเหลือคนในหมู่บ้านของเรา เริ่มจากครอบครัว ญาติพี่น้องและชุมชนที่ทุกคนเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน เพราะ ‘ครอบครัว’ ในความหมายของเราไม่ได้หมายถึงคนในบ้านเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชุมชนเล็กๆ ที่เราอาศัยอยู่มาตลอดชีวิตด้วย”

จากจุดเริ่มต้นในการสอนสมาชิกในครอบครัว ประกอบกับความตั้งใจที่จะกลับมาดูแลบ้านได้ก่อให้เกิดเป็นอุดมการณ์ที่เชื่อมโยงถึงชุมชนที่เธอรัก น้องมนได้กล่าวทิ้งท้ายว่าการเลือกเรียนครูคือก้าวย่างเล็กๆ อันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้เธอสามารถทำให้ความฝันของเธอเป็นจริงได้ ทั้งในฐานะลูกของพ่อแม่และฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาชุมชน

 1,217 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า