มุ่งสู่ภาพฝัน “โรงเรียนแห่งอนาคต” ด้วยแนวทางจาก TSQP

เจาะการทำงานของโครงการ TSQP กับการสร้าง "โรงเรียนแห่งอนาคต" ที่นักเรียนทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ที่เหมาะกับตนเองได้

Share on

 1,604 

“เป้าหมายของของโครงการคือ ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งไม่ใช่แค่รู้วิชา แต่ต้องเป็นการพัฒนาคนทั้งคน หรือ Whole Chlid Development”

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP)  กล่าว

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้หมายถึงเพียงแค่โอกาสการเข้าถึงการศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงมิติของคุณภาพการศึกษา การตั้งเป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงต้องพัฒนาทุกปัจจัยทั้งในและนอกโรงเรียน ที่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก และมีเป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือ ให้เด็กสามารถสร้างความรู้ และลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองได้ โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) จึงเกิดขึ้น เพื่อสร้าง “โรงเรียนแห่งอนาคต” ที่เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ที่สนุกและเหมาะกับตนเองมากที่สุด รวมถึงมีโอกาสได้พัฒนาทักษะตลอดระยะเวลาของการเรียนรู้

TSQP ต้นแบบการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวถึงโครงการ TSQP ว่าเป็นการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ หรือ  Whole School Approach  ที่เป็นการพัฒนาตัวเอง พัฒนาเครือข่าย พัฒนาระบบ มีการจัดระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีทีมโค้ช และทีมสนับสนุนโครงการ โดยหัวใจสำคัญคือ “การพัฒนาเป็นทีม” เพื่อให้ผลลัพธ์เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนอย่างแท้จริง

ครูของโรงเรียนในโครงการจะได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็น ตามบริบทของแต่ละพื้นที่แต่ละโรงเรียนว่ามีสภาพปัญหาอย่างไร และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้สามารถถ่ายทอดแก่นักเรียนได้ พร้อมนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และสนับสนุนการศึกษาวิจัยประเมินผลเพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิด “สมรรถนะ” ของผู้เรียน ให้ผู้เรียนได้พัฒนาครบทั้งความรู้ ทักษะ และทัศนคติ 

ยกระดับคุณภาพโรงเรียน ตั้งเป้าหมาย Whole Child Development

​ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการ TSQP ​ได้แบ่งปันมุมมองในหัวข้อ “ยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ” เริ่มจากเป้าหมายของโครงการ TSQP คือการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดกลางที่ดูแลเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งมีอยู่ 8,000 แห่ง โดยเริ่มนำร่องที่ 10% แรก (ประมาณ 733 แห่ง) และดำเนินการตามโมเดลที่ กสศ.​วางแผนไว้

 

“เป้าหมายของของโครงการคือ ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งไม่ใช่แค่รู้วิชา แต่ต้องเป็นการพัฒนาคนทั้งคน หรือ Whole Chlid Development ต้องมีทั้งความรู้ ทักษะ และทัศนคติซึ่งสำคัญที่สุด เช่น การเป็นคนซื่อสัตย์ จิตใจดี มั่นใจในตัวเอง ทั้งสามจะโยงกันหมด เราจึงต้องพัฒนาไปพร้อมกันทุกด้าน เพื่อพัฒนาอนาคตเด็ก ที่จะเป็นอนาคตบ้านเมืองของเรา”​

เปลี่ยนวิธีวัดผล เพื่อสร้าง “โรงเรียนแห่งอนาคต”

ศ.นพ.วิจารณ์ แนะนำว่า หัวใจของการพัฒนาความรู้ ทักษะ และทัศนคติของเด็กคือ การพยายามหาวิธีที่ทำให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนแห่งอนาคต แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานการศึกษามักจะใช้คอนเซ็ปต์ในอดีตเพื่อกำหนดทิศทางสำหรับอนาคต โดยใช้วิธีการเรียนรู้แบบเดิม ๆ วัดผลความสำเร็จแบบเดิม ๆ ในขณะที่ทักษะของโลกพัฒนาขึ้นทุกวัน หน่วยงานการศึกษาต้องหาวิธีการทำให้โรงเรียนเป็น“โรงเรียนแห่งอนาคต” สิ่งสำคัญที่จะเปลี่ยนโรงเรียนให้ก้าวหน้าขึ้นได้ คือการปลูกฝังแนวคิดเรื่อง Growth Mindset ให้เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับองค์กร ไปจนถึงระดับสังคม เมื่อทำในส่วนของการนำร่องได้ ก็จะขยายผลจากโรงเรียนต้นแบบ สู่โรงเรียนขนาดกลางทั้งหมด 8,000 แห่ง และไปจนถึงโรงเรียนทั้งหมด 30,000 แห่งทั่วประเทศ

อีกประเด็นที่โครงการใน กสศ. พยายามปรับเปลี่ยนคือ ลักษณะการวัดผลการศึกษาของไทย ที่กำลังปรับให้มีลักษณะคล้ายกับการสอบ PISA ซึ่งเป็นสากล เพราะหากยังไม่ปรับวิธีวัดผลให้เป็นสากล การศึกษาของไทยก็จะพัฒนาเพียงด้านเดียวคือฝั่งความรู้ ศ.นพ.วิจารณ์จึงเสนอให้แต่ละโรงเรียนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกิดความเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายที่หลากหลาย เพราะคุณภาพการศึกษาไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนและครูเท่านั้น เปรียบเทียบกับการสร้างสุขภาพที่ดี ก็ไม่ได้อยู่ที่หมอหรือโรงพยาบาลเป็นหลัก แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “พฤติกรรมของบุคคล” ที่แต่ละคนหาวิธีดูแลและป้องกันโรคของตัวเอง การเรียนรู้จึงเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องช่วยกัน ไม่ได้เป็นแค่หน้าที่ของโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว

เปลี่ยน Classic Learning เป็น Active Learning

โรงเรียนแห่งอนาคต ต้องสร้างวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้นักเรียน ซึ่งวิธีการเรียนรู้ที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพของเด็ก และเพิ่มพูนทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ดีที่สุด คือการเน้นให้เด็กได้ใช้ความคิด และลงมือสร้างผลงานของตนเอง ผสานไปกับการทำความเข้าใจเนื้อหาในบทเรียน หรือการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า Active Learning 

 

“ปัจจุบันเราต้องการคนที่มีความคิด กล้าถาม กล้าสงสัย กล้าทำอะไรที่แตกต่าง การศึกษาสมัยใหม่ก้าวหน้าไปมาก ไม่ใช่การเอาความรู้มาใส่สมอง แต่ต้องคิดสร้างขึ้นเองในสมอง ด้วยการคิดแล้วลงมือทำ มีการใคร่ครวญสะท้อนคิด ซึ่งเด็กจะเปลี่ยนพฤติกรรม มีความสุข มีความภูมิใจ ดังนั้นต้องเปลี่ยนจาก Classic Learning เป็น Active Learning”

ศ.นพ.วิจารณ์กล่าว

สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้สำหรับนักเรียนทุกคน

อีกปัจจัยหนึ่งของการเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็น “โรงเรียนแห่งอนาคต” เพื่อพัฒนาเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม คือการสร้าง “ชุมชนการเรียนรู้”  เพราะครูไม่สามารถทำงานทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว โดยที่ผู้อำนวยการต้องเป็นผู้นำ สร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ Learning Community ทำให้โรงเรียนมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ กระตุ้นให้เด็กรู้สึกสนใจและสนุกสนาน โดยในปีที่สองนี้มีการนำเครื่องมืออย่าง ​Formative Assessment และ Development Evaluation หรือการประเมินเพื่อการพัฒนาเข้ามาใช้ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาศักยภาพนักเรียนให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ ในการเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หน่วยงานการศึกษาต้องคำนึงถึงพหุปัญญา หรือ Multiple Intelligence ของนักเรียนด้วย เพราะเด็กบางคนไม่เก่งวิชาการ แต่มีปัญญาทางด้านอื่น เช่น ศิลปะ ดนตรี ที่โดดเด่นมาก ซึ่งถ้าหน่วยงานการศึกษาสามารถออกแบบหลักสูตรและวิธีการสอนได้ครอบคลุมถึงปัญญาทุกด้าน ก็จะเป็นกุศโลบายให้เด็กทุกคนหันมาสนใจการเรียน 

การพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนให้กลายเป็น “โรงเรียนแห่งอนาคต” ได้นั้นมีหลายปัจจัย  ทุก ๆ ปัจจัยถูกดำเนินการปรับปรุงเพื่อให้ไม่มีนักเรียนคนไหนหลุดจากระบบการศึกษา ให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนได้ไม่ว่าจะมีฐานะครอบครัวแบบใด และทุกคนจะไม่ถูกตัดสินความเก่งหรือไม่เก่ง แค่เพียงผ่านการท่องจำและคะแนนสอบเท่านั้น เมื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้น นักเรียนทุกคนจะสามารถเรียนรู้อย่างมีความสุข และมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อให้พวกเขาเป็นพลเมืองที่เก่ง ดี ของประเทศนี้ต่อไป 

 1,605 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า