เสียงจากครูใน 3 จังหวัดชายแดนใต้: อย่าให้ความยากจน ทำลายโอกาสทางการศึกษา

คุณครูผู้มองเห็นปัญหาที่ทำให้เด็กนักเรียนในจังหวัดนราธิวาสต้องขาดแคลนโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

Share on

 1,847 

“สิบกว่าปีที่จากบ้านไป เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคืออุปสรรคทางการศึกษาของเด็กๆ ที่สมัยเราเรียนเป็นอย่างไร ตอนนี้ยังเป็นเหมือนเดิมอย่างนั้น”

ครูสุนิดา อุมา หรือ ‘ครูนี’ ครูโรงเรียนบ้านคอลอกาเว อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาสผู้มองเห็นปัญหาที่ทำให้เด็กนักเรียนต้องขาดแคลนโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะภาพลักษณ์ของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เต็มไปด้วยความรุนแรงทำให้น้อยคนที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือหรือตั้งใจที่จะพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม 

เมื่อก่อนที่ตั้งของโรงเรียนเป็นพื้นที่สีแดง ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตรคือฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเมื่อราว 40 ปีก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้นานนับสิบปี

ข่าวที่นำเสนอผ่านทางสื่อต่างๆ ทำให้ภาพลักษณ์ของอำเภอศรีสาครดูน่ากลัวสำหรับคนภายนอก แต่ในฐานะครูผู้เป็นศิษย์เก่าที่นี่ เธอมองว่าความยากจนและการขาดแคลนโอกาสของเด็กๆ น่ากลัวยิ่งกว่าเพราะถือเป็นอุปสรรคในการพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง

“พวกเราดีใจมากทุกครั้งที่มีคนมาที่โรงเรียน ไม่มีใครลงมาหาพวกเรานานแล้ว เพราะเขาฝังใจว่าแถวนี้เป็นพื้นที่อันตราย แม้เหตุการณ์รุนแรงจะลดลง แต่ภาพจำที่ว่าชุมชนของเราไม่ปลอดภัยกลับไม่เลือนหายไป นานครั้งจึงจะมีคนจากพื้นที่อื่นเข้ามาที่นี่ ครูส่วนหนึ่งที่บรรจุเข้ามามักจะอยู่ไม่นาน มีแต่คนในพื้นที่ที่พร้อมจะปักหลักทำงาน เพราะมองว่าชุมชนนี้คือบ้านและครอบครัว”

ครูนีเผยปัญหาในท้องถิ่นจากมุมมองที่เธอเห็น

กว่าจะมาเป็นครูรักษ์ถิ่น

ครูนีเล่าว่าเธอเกิดและเติบโตที่นี่ เธอเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านคอลอกาเวแและย้ายไปเรียนปริญญาตรีที่จังหวัดยะลา เมื่อจบเอกครูจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เธอได้งานเป็นครูในโรงเรียนเอกชนในอำเภอรามัน จังหวัดยะลาเป็นเวลา 3 ปี เมื่อถึงเวลาสอบบรรจุ เธอตัดสินใจกลับมาสอนที่นี่

“เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงสิบกว่าปีที่จากบ้านไป  สมัยที่ยังเรียนอยู่ โรงเรียนรับเด็กไม่ถึงร้อยคน มีอาคารไม่กี่หลังและต้นไม้ใหญ่ที่คอยให้ความร่มรื่นอยู่รอบโรงเรียน เมื่อกลับมาอีกครั้ง แม้โรงเรียนจะสามารถรับเด็กได้หลักพัน มีการสร้างตึกและเปลี่ยนวัสดุจากไม้กลายเป็นปูน แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคืออุปสรรคทางการศึกษาของเด็กๆ ที่สมัยเราเรียนเป็นอย่างไร ตอนนี้ยังเป็นเหมือนเดิมอย่างนั้น”

นักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนและมีตายายคอยดูแล พ่อแม่บางส่วนต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่เพื่อให้ได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้น ส่วนพ่อแม่ที่ยังทำงานในพื้นที่จะได้รับค่าแรงที่ไม่เพียงพอสำหรับค่าเล่าเรียนของลูกทุกคน เด็กๆ จึงต้องผลัดกันเรียน ผลัดกันอยู่บ้าน หลายคนต้องหยุดเรียนและไปทำงานหาเงินเพื่อช่วยพ่อแม่ เมื่อขาดเรียนบ่อยครั้งจึงเรียนไม่ทันเพื่อน เด็กเริ่มไม่อยากมาโรงเรียนหรือหันไปทำงานเต็มตัว เรามองว่าพวกเขาขาดแรงจูงใจที่จะมองเห็นความสำคัญของการศึกษา

“ช่วงที่เรายังเป็นนักเรียน เราโชคดีมากที่ได้ครูคอยช่วยเหลือและทำให้เรามองเห็นเป้าหมายในชีวิต เราจึงมีแรงที่จะพยายามเรียนจนสำเร็จ จากวันนั้นเรารู้สึกว่าไม่มีอาชีพไหนที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของคนอื่นได้เท่ากับครู อย่างเราที่มาถึงจุดนี้ได้เพราะมีครูที่ดีมาก่อน”

ปัญหาที่พบทำให้เราย้อนมองว่าเราเคยก้าวข้ามผ่านปัญหาด้วยวิธีใด สิ่งที่เผชิญในวัยเด็กกลายเป็นแรงบันดาลใจใหเ้รากลับมาที่นี่อีกครั้ง ในฐานะครูผู้เคยเป็นนักเรียนที่ไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีฐานะ แต่เพราะความรักและความเอาใจใส่จากครูทำให้ทัศนคติของเราเปลี่ยนไป เราสามารถรับมือกับการเปลี่ยนผ่านในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตได้เพราะคำสอนของครู

“เราพยายามถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในฐานะครู เราคอยสร้างแรงจูงใจให้เขามีเป้าหมายในการเรียนและช่วยเหลือเมื่อเขาต้องเผชิญกับปัญหา”

“เราเป็นคนท้องถิ่นจึงใช้เวลาปรับตัวไม่นาน เพราะรู้พื้นฐานของเด็กและผู้ปกครองเป็นอย่างดี เราเริ่มต้นแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปที่บ้านของเด็กเพื่อทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากผู้ปกครองและคนในท้องถิ่น โชคดีที่เราอยู่กันเป็นชุมชนอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เมื่อก่อน เมื่อผู้ปกครองเห็นเราเป็นคนในพื้นที่และคุ้นหน้ากันอยู่เป็นทุนเดิมทำให้เชื่อใจที่จะฝากฝังลูกหลาน ส่วนมากผู้ปกครองจะยอมรับฟังในสิ่งที่เราพูด เพราะรู้ว่าเราหวังดีกับเขาจริงๆ”

ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาในฐานะคนในพื้นที่

“โครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข” หรือ “ทุนเสมอภาคของกสศ.” ช่วยให้หลายครอบครัวไม่ต้องแบกรับภาระทางการเงินอีกต่อไป เพราะโครงการมอบเงินสนับสนุนทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมทักษะทางวิชาชีพ เด็กหลายคนจึงไม่ต้องกังวลว่าจะเรียนไม่ทันเพื่อน เมื่อเด็กเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอ เขาจึงมีผลการเรียนที่ดีขึ้นและสามารถตั้งเป้าหมายชีวิตในระยะยาวได้

ครูนุรนี อารง หรือ “ครูยู” ที่แม้จะไม่ใช่คนศรีสาครแต่กำเนิด แต่เรียนที่โรงเรียนบ้านคอลอกาเวและเลือกกลับมาบรรจุที่นี่ช่วยเสริมว่า  

“ช่วงแรกเราได้ไปบรรจุที่อื่น แล้วจึงขอย้ายกลับมาเพื่อสอนที่โรงเรียนนี้ นี่ถือเป็นความตั้งใจของเรา เพราะความรู้สึก “รักถิ่นฐาน” คอยย้ำให้ต้องกลับมาพัฒนาโรงเรียนของเรา เราอยู่ที่นี่ตั้งแต่เริ่มเรียนหนังสือทำให้เกิดความผูกพัน เราอยากเห็นที่นี่พัฒนา ยิ่งสื่อนำเสนอภาพความรุนแรงยิ่งทำให้คนนอกพื้นที่ไม่อยากจะเข้ามาอยู่ที่นี่นานนัก เราคิดว่าถ้าไม่มีคนทำงานอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาจะไม่เกิด เราเป็นคนในพื้นที่แท้ๆ ถ้าเราไม่กลับมาทำงานที่บ้านของเรา แล้วจะหวังให้คนอื่นเข้ามาทำแทนคงเป็นไปไม่ได้”

ประสบการณ์ที่นำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

การได้ทำงานนอกพื้นที่ทำให้ครูยูเห็นความแตกต่างชัดเจนขึ้น เธอได้เห็นว่าเด็กๆ ในเมืองใหญ่มีโอกาสในชีวิตมากกว่า เพราะการจัดการศึกษาที่เป็นระบบมากกว่า ครูยูนำสิ่งเหล่านั้นกลับมาปรับใช้กับโรงเรียน เด็กที่นี่บางคนอยากมาเรียนแต่ไม่มีเงิน อีกส่วนหนึ่งคือขาดแบบอย่างที่ดี โลกของเขามีแต่ชีวิตในชุมชน เธอจึงนำประสบการณ์มาถ่ายทอดให้เด็กๆ รู้ว่าข้างนอกมีอะไรอีกมากที่ควรต้องออกไปสัมผัส เขาจะต้องตั้งใจเรียนหนังสือ ต้องออกไปใช้ชีวิตและต้องเชื่อมั่นว่าถ้าเรียนจบสูงแล้วจะมีอาชีพที่ดีและจะช่วยให้ครอบครัวดีขึ้นได้

“นักเรียนที่นี่คือเด็กในชุมชนของเรา เขาเป็นเหมือนญาติพี่น้องของเรา ดังนั้น เราจะต้องเป็นคนพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ เพราะคนอื่นไม่ได้รู้จักที่นี่ดีเท่าเรา นี่จึงเป็นหน้าที่ทั้งในฐานะครูและคนในพื้นที่ที่จะต้องทำให้เด็กมีความรู้และได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเองทัดเทียมกับเด็กในพื้นที่อื่นๆ”

ครูยูกล่าวปิดท้ายด้วยความมุ่งมั่นอย่างเต็มเปี่ยม

ความรักษ์ถิ่นของครูทั้งสองคนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ครูนอกพื้นที่ได้นำความรู้และประสบการณ์กลับไปพัฒนาชุมชนบ้านเกิด เพราะไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาได้ดีเท่ากับผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์เดียวกันมาก่อน ด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความแน่วแน่ การพัฒนาโรงเรียนในบ้านเกิดให้มีคุณภาพไม่แพ้โรงเรียนในตัวเมืองจึงไม่ใช่ความฝันที่เกินจริงอีกต่อไป  

 1,848 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า