ห้องเรียนแนวใหม่ที่เด็กไม่ต้องทำตามสูตรเดิม

พื้นที่แห่ง ‘การเรียนรู้จากประสบการณ์และความสนใจ’

Share on

 2,371 

การเรียนรู้ภายในห้องเรียนทั่วไปอาจเน้นให้เด็กรู้จักจดจำข้อมูลหรือสูตรที่มีอยู่ให้ได้เท่านั้น เพียงเพื่อนำไปสอบหรือใช้งานได้เฉพาะอย่างมากเกินไปอันที่จริงหากนักเรียนสามารถเรียนรู้พร้อมกับนำไปในชีวิตประจำวันได้ด้วยนั้นควรสำคัญกว่าเพราะสูตรสำหรับบางวิชาเด็กก็สามารถนำไปต่อยอดได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่มีสูตรไว้เพื่อให้ทำตามขั้นตอนเพียงอย่างเดียวดังนั้น ห้องเรียนรูปแบบใหม่ควรเน้นให้เกิด Active Learning หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้จากการปฏิบัติหรือลงมือทำเองเปิดโอกาสในการลองผิดลองถูกและนำมาซึ่ง ‘ความรู้จากประสบการณ์’ ของตัวเขาเอง รวมทั้งก่อให้เกิดกระบวนการใช้ความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้กระทำลงไป สูตรลับเฉพาะที่ได้จากการเรียนรู้และลงมือทำจากห้องเรียนแบบใหม่ของเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านปางปอย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่  ถูกนำเสนอออกมาผ่านการทำ ‘ทองพับสมุนไพรจากแป้งกล้วยน้ำว้า’ ผลผลิตที่เด็ก ๆ ร่วมกันคิดค้นจนสำเร็จ โดยผ่านการเรียนรู้จากผลผลิตต่าง ๆ ในชุมชน การนำมาทดลองและพัฒนาสูตรอย่างต่อเนื่องเพื่อก่อให้เกิดมาตรฐานที่ดี

‘สิ่งใหม่’ ที่ได้จากการเปลี่ยน ‘สิ่งเดิม’  ในชุมชน

เดิมทีโรงเรียนมีกิจกรรมฐานฝึกอาชีพแปรรูปอาหารอยู่แล้ว โดยครูจะเป็นผู้นำสูตรมาสอนให้นักเรียนทดลองทำและมักเลือกใช้พืชประจำถิ่นที่มีอยู่มากในชุมชนมาเป็นวัตถุดิบหลักอย่าง ‘กล้วยน้ำว้า’ โดยปกติจะใช้แปรรูปเป็นกล้วยทอด กล้วยฉาบ กล้วยตาก ฯลฯ

ปัจจุบันเกิดการปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากการทำตามสูตรเป็น ‘เด็กสามารถคิดค้นและทดลองหาสูตรขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเอง’ ตั้งแต่การเข้ามาของ ‘มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม’ในฐานะพี่เลี้ยงให้กับทางโรงเรียนในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP)  และนับเป็นการเปลี่ยนวิธีการแปรรูปผลผลิตในชุมชนครั้งสำคัญ

กระบวนการคิดวิเคราะห์ได้ดีนั้นเริ่มจาก ‘การฝึกตั้งถาม’

ตอนนี้ที่โรงเรียนเริ่มฝึกให้เด็ก ๆ รู้จักคิด และ ‘ตั้งคำถาม’ ก่อนว่าเราจะทำอะไร แล้วค่อยสอนวิธีการอื่น ๆ จากฐานการเรียนรู้ เช่น หากเราจะทำกล้วยบวดชี ขั้นต่อไปก็จะต้อง ‘จินตนาการ’ ว่ากล้วยบวดชีควรมีหน้าตาอย่างไร จากนั้น ‘วางแผน’ พร้อม ‘ลงมือสร้างสรรค์ผลงาน’ เสร็จแล้วก็จะมาสู่ขั้นตอน ‘แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันออกแบบใหม่’ เพื่อการพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น

ครูศิริพร เล่าให้ฟังว่า “ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนเสร็จออกมาเป็นกล้วยบวดชี เด็กจะถูกฝึกให้รู้จักการคิดวางแผนและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยที่ครูจะไม่ใช่คนที่ไปบอกว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง ดังนั้นผลงานที่ออกมาหน้าตาก็จะไม่เหมือนกัน เช่น บางคนเพิ่มดอกอัญชัน บัวลอย มะพร้าว เข้าไป เขาก็จะได้เรียนรู้ว่าอันไหนอร่อย ไม่อร่อย แล้วก็ปรับปรุงแก้ไขสูตรในครั้งต่อไป”

“การสอนแบบไม่ต้องบอกสูตร ให้เด็กได้คิดสูตรเองจะยิ่งทำให้เด็กได้พัฒนาความคิด และเขาจะได้เรียนรู้ว่าสูตรนี้เขาชอบไม่ชอบ เขาจะรู้สึกสนุก ตื่นเต้นกับชิ้นงานที่ได้มา เขาต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด บางแป้งไม่สุก ก็ต้องปรับแก้บางทีหน้าตาไม่ให้แต่เด็กๆ บอกว่ารสชาติอร่อย เขาก็ภูมิใจกับชิ้นงานที่ตอนนี้มีทั้ง ทองพับ วอฟเฟิล โดนัทในหลายๆ สูตร”

จินตนาการของเด็กสำคัญเทียบเท่ากับความตั้งใจ

“หลังจากที่ได้ไปอบรม STEAM Design Process ของมูลนิธิสตาร์ฟิชฯ  ได้นำเอาความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาฐานฝึกอาชีพที่โรงเรียนโดยเปลี่ยนเป็นฐาน ‘ปางปอยเมกเกอร์’  ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้นักเรียนได้เลือกเรียนตามสิ่งที่ตัวเองสนใจ” กล่าวโดย ครูศิริพร

เมื่อเกิดพื้นที่ให้สร้างสรรค์ผลงานแล้ว จึงทำให้เด็ก ๆ ทุ่มเทกับปางปอยเมกเกอร์อย่างมากจนกระทั่งเริ่มไปแข่งขันแปรรูปอาหาร แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในครั้งแรก ๆอย่างไรก็ตามเด็กยังได้รู้จักการเรียนรู้ผ่านคำแนะนำของกรรมการว่า การแปรรูปกล้วยน้ำว้ายังคงเป็นสูตรเดิมไม่มีอะไรแปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็น กล้วยเชื่อม หรือกล้วยฉาบธรรมดาก็ตาม ดังนั้น กลุ่มนักเรียนจึงกลับมาพยายามคิดค้นหาความแปลกใหม่ เกิดการสะท้อนความคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อปรับสูตรใหม่ จนมาลงตัวที่ ‘การคิดทำแป้งจากกล้วยน้ำว้า’ เพื่อเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตขนมอื่น ๆ ได้อีกมากมาย ทั้ง ทองพับ ครองแครง แล้วยังเปิดพื้นที่จินตนาการให้เด็ก ๆ สามารถแตกสูตรเพิ่มได้อีกตามความสนใจ บางคนทำทองพับใส่งา ใส่แมงลัก ใส่งาขี้ม่อนซึ่งล้วนเป็นของในชุมชนทั้งนั้น

“การทำหน้าที่ของครูคือจะเปลี่ยนจากคนสอน คนบอกสูตร มาเป็นคนที่แค่คอยชี้แนะให้คำแนะนำให้เขารู้จักไปหาข้อมูลด้วยตัวเอง เช่น การทำแป้งจากกล้วยน้ำว้าเด็กก็ต้องไปหาวิธีทำจากในอินเตอร์เน็ตซึ่งทำครั้งแรกอาจไม่สำเร็จก็ต้องมาปรับแก้ไขตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญของการเรียนรู้แบบ Active Learning”

ผลลัพธ์ความสำเร็จของเด็ก ๆ นั้นได้มาจากความมุ่งมั่นตั้งใจจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองแบบครบวงจรจริง ๆ  ตั้งแต่การเริ่มต้นคิดค้นสูตร ทดลองทำ ปรับปรุงแก้ไข จนถึงขั้นนำออกจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ และอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยยืนยันความสำเร็จได้เป็นรูปธรรมคือรางวัลงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติประเภทกิจกรรมการประกวดแปรรูปอาหารปี 2562 

รางวัลไม่ได้สำคัญกว่าการที่เด็กได้เรียนรู้และกล้าแสดงออก

“รางวัลที่เด็กไปได้มาจากเวทีระดับชาติถือเป็นอีกรางวัลความสำเร็จซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับเด็กบ้านปางปอยที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์ เกินครึ่งเป็นเด็กลาหู่ เพราะปกติเด็ก ๆ ไม่ใช่คนที่กล้าแสดงออก ต่างจากเด็กในเมืองที่มีทั้งโอกาสและทรัพยากรมากกว่าเด็กดอย เราก็พยายามผลักดันให้เขามีพื้นที่ได้แสดงออก ได้เรียนรู้ส่วนจะแพ้หรือชนะก็ไม่สำคัญขอให้ได้เรียนรู้”

ปัจจุบันทางโรงเรียนให้เด็ก ๆ ลองคิดต่อยอดผลิตภัณฑ์และสร้างแบรนด์ “บานานาปางปอย” ขึ้นมาและสอนให้เด็ก ๆ มองหาช่องทางการขายสินค้าเพิ่มเติมจากตลาดเดิม ต้องรู้จักหาตลาดใหม่ อย่างบนสื่อออนไลน์ที่เราจะสอนให้เขารู้จักกระบวนการไปคิดต่อยอดในอนาคต ตอนนี้เด็ก ๆ จึงลองขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊กและใช้การโปรโมทถึงขั้นที่จะไลฟ์สดขายสินค้าเหมือนที่อื่นอีกด้วย นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกคิดในเรื่องต่าง ๆ พร้อมลงมือทำแล้ว ยังทำให้เด็กหลายคนที่อาจเคยพูดน้อยเริ่มกล้าพูด กล้าตอบ และแสดงความคิดเห็นในห้องเรียนมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ยิ่งมั่นใจว่าการสอนรูปแบบนี้มันดีกว่าแบบเดิม ทำให้เรายิ่งมั่นใจว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้อย่างเท่าเทียมกัน

 2,372 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า