“อยากจะเห็นนักเรียนเป็นอย่างที่นักเรียนอยากเป็น ก็เลยคิดจะเข้าร่วมสู่กระบวนการตรงนี้ ด้วยความตั้งใจ” – อนุชา สาลีผลิน ครูแกนนำ
จากปัญหาขาดแคลนบุคลากรและทรัพยากรทางการศึกษา สู่แก้ไขปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กเอาตัวรอดในสังคมอย่างมีความสุขและอยู่ในโลกของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยนวัตกรรม STEAM Design Process และ Makerspace จากมูลนิธิสตาร์ฟิชคันทรีโฮม
โรงเรียนสหกรณ์กสิกรรมชายทะเล จ.สมุทรสาคร หนึ่งโรงเรียนโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ภายใต้เครือข่ายมูลนิธิสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ได้นำองค์ความรู้จากโครงการมาพัฒนาการเรียนการสอนและกระบวนการปฏิรูปโรงเรียนผ่าน 5 องค์ประกอบ
1. ผู้นำ ให้ความสำคัญและกำลังใจแก่คุณครู พาโครงการไปสู่เป้าหมาย
2. การเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชน
3. สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ทุกพื้นที่ในโรงเรียน
4. นำเทคโนโลยีและเครื่องมือเข้ามาใช้จูงใจนักเรียนและลดภาระงานคุณครู
5. วางแผนพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ โดยมีเป้าหมายชัดเจน
เกิดเป็นคอนเซปต์ “School of Art” ด้วยความหมายของพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรม บูรนาการด้านวิชาชีพ การแสดง งานประดิษฐ์ กิจกรรมพัฒนาความคิดนักเรียนอย่างเป็นเอกลักษณ์ สอดคล้องกับทักษะในศตวรรษที่ 21
“การเรียนแบบ Makerspace ทำให้หนูได้รู้จักค้นหาตัวตนของตัวเอง
ได้รู้ว่าอาชีพที่หนูจะทำเป็นอะไร อาชีพที่หนูอยากจะเป็นเป็นอย่างไร”
– บทลดา แก้วคง นักเรียนโรงเรียนสหกรณ์กสิกรรมชายทะเล
ด้วยความร่วมมือจากศึกษานิเทศก์และโค้ชภายนอก ก็ยิ่งเสริมพลังโรงเรียนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาคุณภาพทั้งระบบ สังเกตได้จากการสอนที่เปลี่ยนไป คุณครูเน้น Active Learning ให้เด็กลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง เปิดโลกกว้างในการเรียนโดยปราศจากข้อจำกัด ผลลัพธ์ที่เกิด คือเด็ก ๆ เรียนรู้อย่างมีความสุข สามารถค้นพบศักยภาพ ความสามารถในแต่ละบุคคล รู้อาชีพที่ตัวเองอยากจะเป็น และเข้าใจว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่ออนาคตที่กำลังจะมาถึง
467