หน่วยบ้านนอก

ห้องเรียนทดลองชีวิตที่มีท้องฟ้าเป็นปากกาและผืนหญ้าเป็นกระดาษ

Share on

 1,551 

ห้องเรียนทดลองชีวิตที่มีท้องฟ้าเป็นปากกาและผืนหญ้าเป็นกระดาษ

เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในห้องเรียน ‘ชีวิต’ จึงเป็นห้องเรียนที่ดีที่สุด ชวนถอดบทเรียน ‘หน่วยบ้านนอก’ เชื่อมโยงการเรียนรู้ออนไลน์ กับ ‘PLC Coaching’ จากการเรียนรู้ภาคปฏิบัติที่เกาะเกี่ยวกับทฤษฎีในหนังสือ ‘ครูเพื่อศิษย์’ นำมาสู่การเชื่อมโยงเครือข่ายออนไลน์ในชุมชนครูเพื่อศิษย์ จนเกิดเวที Online PLC Coaching ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยครูจากทั่วประเทศ

ในครั้งแรกนี้ มีคณะครูจากโรงเรียนในเครือข่ายมูลนิธิสยามกัมมาจล (พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา) และเครือข่ายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้าร่วมทั้งหมด 16 โรงเรียน ร่วมด้วยผู้อำนวยการและครูโรงเรียนต้นแบบอีก 6 โรงเรียน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ซึ่งมาร่วมกันรับฟังเรื่องเล่าจากบทเรียน ‘หน่วยบ้านนอก’ ของน้อง ๆ ชั้น ป.4 โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา หนึ่งในโรงเรียนต้นแบบโครงการครูเพื่อศิษย์

‘โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา’ โรงเรียนต้นแบบที่มุ่งหวังให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำโดยการให้การศึกษาฟรี มีหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นเองและเข้าเกณฑ์ตัวชี้วัดจากกระทรวงศึกษาธิการ

ในแต่ละปีการศึกษา โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาแบ่งภาคเรียนออกเป็น 4 ควอเตอร์ (quarter) ควอเตอร์ละ 10 สัปดาห์ หมายความว่าเด็ก ๆ จะได้เปลี่ยนหน่วยการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ในแต่ละควอเตอร์ อาทิ หน่วยโรค หน่วยอนิเมชั่น หน่วยหุ่นยนต์ แต่ในบทความนี้จะพาคุณมารู้จักกับ “หน่วยบ้านนอก” หน่วยการเรียนรู้ทักษะสำคัญเพื่อเอาชีวิตรอดในโลกกว้างนอกห้องเรียนที่ไม่มีในตำรา ภายใต้แนวคิด PBL (Problem-based Learning)

ภาพ Infographic กระบวนการเรียนรู้หน่วยบ้านนอก

ครูสิริมา โพธิ์จักร หรือ ‘ครูยิ้ม’ ครูประจำชั้น ป.4 โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ผู้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ริเริ่มหน่วย ได้เล่าถึงจุดประสงค์ของ “หน่วยบ้านนอก” ไว้ว่า หน่วยนี้เกิดขึ้นมาด้วยความคาดหวังที่จะให้เด็ก ๆ เข้าใจและเห็นคุณค่าของวิถีชีวิตชนบท โดยเฉพาะคุณค่าของชุมชน ให้เด็ก ๆ ที่เกิดและเติบโตในยุคโลกาภิวัตน์ ยุคที่เต็มไปด้วยความรีบเร่ง ฉาบฉวย และแข่งขัน ได้มีพื้นที่ชีวิตเรียบง่ายและสามัญ

“ใช้ชีวิตให้ช้าลงหน่อย แล้วจะเห็นคุณค่าของอะไรๆ มากขึ้น” ครูยิ้มกล่าว

ครูยิ้ม สิริมา โพธิ์จักร โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

ที่น่าประทับใจคือคุณครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการวางแผนและออกแบบการเรียนรู้ของตนเอง แลกเปลี่ยนความสนใจ และไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ความสนใจใคร่รู้ของนักเรียนจะถูกนำไปบูรณาการในระหว่างเส้นทาง ‘หน่วยบ้านนอก’ ตลอดระยะเวลา 10 สัปดาห์นั้น เด็ก ๆ จะได้ลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งทดลองผสมดินเพื่อปลูกผักให้อยู่รอด ทำเตาเผาถ่าน ทอเสื่อจากเส้นใยธรรมชาติ ออกแบบเครื่องมือดักสัตว์ ทดลองใช้ชีวิตในธรรมชาติโดยไม่มีไฟฟ้า ทั้งยังร่วมมือกับชุมชน มีตัวแทนผู้ปกครอง ผู้เป็นทั้งพ่อ-แม่ และปราชญ์ชุมชน นำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านมาถ่ายทอดให้เด็ก ๆ เรียนรู้วิธีการใช้เครื่องมือดักสัตว์บ้าง สอนวิธีการทอเสื่อบ้าง และใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของวันในการแลกเปลี่ยนความคิด รวมไปถึงสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ในหมู่เพื่อนๆ

เมื่อครูไม่สามารถพายเรือส่งนักเรียนไปทุกฝั่งฝันได้ตลอดชีวิต ทักษะสำคัญที่ครูจะสามารถถ่ายทอดให้นักเรียนได้เอาไว้เป็นประดับตัว คือ ฝึกการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างไม่รู้จบ ครูยิ้มได้อธิบาย PBL (Problem-based Learning) ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ว่า “เป็นการดึงเอาปัญหามาเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้” เมื่อเกิดปัญหาหรือคำถาม เด็ก ๆ จะต้องฝึกหาคำตอบด้วยตัวเอง โดยปัญหานั้นมีหลายระดับความซับซ้อน หากเป็นอะไรที่หาคำตอบได้ง่าย ก็จะปล่อยให้เด็ก ๆ ไปศึกษาจากแหล่งข้อมูลที่โรงเรียนเตรียมไว้ให้ ทั้งจากอินเทอร์เน็ตและห้องสมุด ทว่า บางปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นก็อาจจะต้องอาศัยการทดลองเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ และบางครั้ง ‘ปัญหา’ ก็อาจเกิดขึ้นมาโดยไม่ได้มีใครวางแผนไว้ล่วงหน้า ดังนั้นแล้วเด็ก ๆ จึงได้ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือทดลองหาคำตอบจากปัญหาที่ไม่มีในตำรา ทักษะการแก้ไขปัญหาและฝึกหาคำตอบจึงเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เด็ก ๆ นั้นได้ชื่อว่าเป็น “นักศึกษา – Active Learner” อย่างแท้จริง

หลังจากผ่านกระบวนการตลอดทั้ง 10 สัปดาห์ ผลที่ออกมาพบว่าเด็ก ๆ สามารถเกิดกระบวนการคิดขั้นสูง ใฝ่รู้ ช่างสังเกตและช่างสงสัย ได้ฝึกการตัดสินใจ และลงมือปฏิบัติ เด็ก ๆ เข้าใจการทำงานเป็นทีม มั่นใจได้ว่า พวกเขาจะเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งและเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ

ฟังเสียงนักเรียนไปแล้ว ฟังเสียงครูกันบ้าง ?

สิ้นสุดคำ เสียงปรบมือดังขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เล่าเรื่อง จากนั้น ได้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนจากคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิบนเวทีเสวนา

คณะครูจากโรงเรียนรุ่งอรุณกล่าวว่า

“ประทับใจที่ครูให้พื้นที่เด็กได้เลือกประเด็นด้วยตัวเอง ได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ ทำให้เขาสามารถลงมือทำจนบรรลุผลได้ด้วยตนเอง ทำให้พวกเขาได้ฝึกแก้ปัญหาและเห็นคุณค่าของการแบ่งปันความรู้”

ต่อมา ทางด้าน ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ผู้ก่อตั้งโรงเรียนบ้านปลาดาว (Starfish Labz) ได้เสนอแนะเพิ่มเติมให้มีการ ‘check-in’ อารมณ์ของเด็กมากขึ้น

“ลองโฟกัสเรื่องที่เด็กรู้สึกอย่างไร นอกจากรู้ว่าเขาคิดอย่างไร ส่วนในด้านการบันทึกการเรียนรู้ของเด็กลักษณะที่ครูยิ้มได้ทำ นับว่ามีประโยชน์มากในช่วงที่แต่ละโรงเรียนกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การเรียนฐานสมรรถนะ ว่าครูจะบันทึกการเรียนรู้อย่างไรที่จะไม่เพิ่มภาระให้เด็ก แต่ในขณะเดียวกันต้องบ่งบอกได้ว่าเด็กได้เรียนรู้อะไร ซึ่งเวที PLC นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ดีในการที่ครูจะได้มาแลกเปลี่ยนเครื่องมือระหว่างกัน”

จากนั้น ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการ กสศ. และในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวเสริมว่า

“ในกระบวนการเรียนรู้ สำคัญมากว่าครูจะตั้งคําถามอย่างไร เพื่อวัดการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละระดับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรนําตัวอย่างมาแลกเปลี่ยนกันในวง PLC และครูต้องคำนึงด้วยว่า ทำอย่างไรให้เด็กได้รับสิ่งที่ดีอย่างครบถ้วนทุกคน ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่น่าสนุกสำหรับครู และครูควรจะมีการตอบสนองอย่างไรต่อเด็กแต่ละคน เช่น เด็กที่มีความมั่นใจมากกับเด็กที่ไม่มีความมั่นใจ ครูจะชวนคุยต่ออย่างไร รวมถึงสิ่งที่ครูควรจะชี้ให้เด็กเห็นว่า ผลงานที่ดีแล้วจะทำให้ดีขึ้นไปอีกได้อย่างไร ทั้งหมดนี้เพื่อให้เด็กมี growth mindset และเกิดการพัฒนาต่อ”

ภาพ Infographic เรื่อง Growth Mindset

ทางด้าน รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ให้ความเห็นว่า ชื่อ ‘หน่วยบ้านนอก’ เป็นการให้ความรู้สึกเชิงบวก สร้างคุณค่า (value) ของความเป็นธรรมชาติ และความเป็นท้องถิ่น ทั้งยังเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักนอบน้อม ถ่อมตน และมองว่าตนเองเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ของธรรมชาติ หรือสังคมที่กว้างใหญ่ อีกส่วนหนึ่งคือ การทำโครงงานที่ดีอยู่ประมาณ 8 สัปดาห์หรือ 2 เดือน ใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง หมายถึง แบ่งเวลา 24 ชั่วโมงและระหว่างชั่วโมงไม่ควรห่างเกิน 2 วัน หรือ 48 ชั่วโมงจะไม่ทำให้ความสนใจของเด็กหายไป

ในส่วนของการสรุปผลการประชุมออนไลน์ PLC ครั้งที่ 1 มีสิ่งที่ครูผู้ร่วมเวทีเห็นโอกาสในการนำไปปรับใช้ในห้องเรียนของตนว่า จะต้องสร้างหน่วยการเรียนรู้ให้เข้ากับบริบท ทรัพยากร และพื้นที่ของโรงเรียน รวมถึงสิ่งสำคัญรอบตัวเด็ก ต้องพาเด็กเรียนรู้นอกห้องเรียน ให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการตั้งเป้าหมาย ออกแบบการเรียนรู้ร่วมกับครู และสร้างกระบวนการให้เด็กได้คิดเอง แก้ปัญหาเอง หาคําตอบด้วยตัวเอง โดยที่ครูไม่ชี้นํา แล้วถ้าครูทราบพื้นฐานความรู้ บริบทของเด็ก จะยิ่งสามารถเชื่อมโยงการสอนและพาเด็กเรียนรู้ได้ลึกมากขึ้น

ท้ายสุดคือ การตั้งคําถามที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ต้องอาศัยประสบการณ์อย่างมากจากครู ดังนั้นครูควรแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ต้องวิเคราะห์คําถามอย่างละเอียด เพื่อช่วยให้เด็กเห็นความเชื่อมโยง แล้วหากครูบอกเป้าหมายกับผู้เรียนด้วย การเรียนรู้ก็จะชัดยิ่งขึ้น

 1,552 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า