วันนี้ I AM KRU. ได้มาสังเกตการณ์การอบรม “การนิเทศการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และระบบนิเวศทางการศึกษาสู่สมรรถนะของผู้เรียน” ภายใต้ความร่วมมือโครงการพัฒนาสมรรถนะด้านการนิเทศของศึกษานิเทศก์ ของหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ.และโครงการพัฒนาผู้นำการจัดการเรียนรู้และระบบนิเวศทางการศึกษา ของ กสศ. มีประเด็นเรื่องการพัฒนาบุคลากรที่ทีมวิทยากรบรรยายในกิจกรรมของวันแรกน่าสนใจเลยทีเดียว
คำถาม คนหนึ่งคิดเลขเก่ง อีกคนหนึ่งเล่นฟุตบอลเก่ง สองคนนี้เก่งเท่ากันหรือไม่
คำตอบ ไม่ เพราะทั้งสองสิ่งเป็นทักษะที่ไม่อาจจะเปรียบเทียบกันเหมือน สั่งให้ม้าไปว่ายน้ำ หรือให้ปลาปีนต้นไม้ แต่ถ้าจะพัฒนาให้ทั้งสองมีความสามารถอีกด้านเพิ่มขึ้นนั้นอาจสามารถทำได้ และอาจกลายเป็นอีกทักษะที่ก้าวข้ามขีดจำกัดไปได้อีก
เมื่อคนเรามีทักษะปัญญาไม่เท่ากัน ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งพยายามอธิบายให้เห็นภาพความแตกต่างของความสามารถและปัญญาที่แตกต่างกันของมนุษย์ ชื่อว่าศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่หลากหลาย ผ่านทฤษฎีที่เรียกว่า “ทฤษฎีพหุปัญญา” (Theory of Multiple Intelligences) เป็นแนวคิดที่ว่า สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้านมีความสําคัญเท่าเทียมกัน แต่จะใครจะโดดเด่นในด้านใดนั้นเป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนอาจจะมีมากกว่า 1 ทักษะก็สามารถเกิดขึ้นได้ โดย ศ. การ์ดเนอร์ ได้เสนอทฤษฎีหพุปัญญานั้น มีอยู่ 9 ด้าน คือ
1) ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence)
2) ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)
3) ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial Intelligence)
4) ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily-Kinesthetic Intelligence)
5) ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)
6) ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)
7) ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)
8) ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence) (เพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2540)
9) ปัญญาด้านการดํารงชีวิต (Existential Intelligence) (เพิ่มเติมล่าสุดในปี พ.ศ. 2561)
เมื่อเชื่อมโยงเนื้อหาในงานด้านพัฒนาบุคลากร ทั้งครู ศึกษานิเทศก์ ฝ่ายบุคคล องค์กร หรือจะใช้เพื่อพัฒนาตนเอง นั้นสามารถใช้การบูรณาการเข้ากับแผนการพัฒนาที่ช่วยเสริมสร้างแผนการพัฒนาส่วนบุคคล หรือ Personalized Development Plan (PDP) สำหรับพหุปัญญาของการ์ดเนอร์ เป็นแนวทางทีละขั้นตอนของการสร้างแผนการพัฒนาเฉพาะบุคคล หรือเส้นทางการเรียนรู้ส่วนบุคคลภายในกรอบการทำงานพหุปัญญาของการ์ดเนอร์ ที่สามารถช่วยให้บุคคลและองค์กรได้ใช้ประโยชน์จากความสามารถและทักษะที่หลากหลายมากขึ้น โดยสามารถลองทำตามขั้นตอนการปฏิบัติด้านล่างทีละขั้นตอน ง่าย ๆ ตามขั้นดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1: การประเมินตนเอง หรือการประเมินทางวิชาชีพ (Self-Assessment or Professional Assessment)
ขั้นตอนนี้เป็นการประเมินตนเองว่าทฤษฎีของการ์ดเนอร์ใน 9 สติปัญญานั้นมีอะไรที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อน หรือจะให้ประเมินดำเนินการโดยมืออาชีพก็จะได้ผลที่ละเอียดมากขึ้น
ขั้นตอนที่ 2: การระบุเป้าหมาย (Identifying Goals)
กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจนและสามารถทำให้ลุล่วงได้ ในทักษะที่ยังอ่อน เช่นประเมินแล้วได้คะแนนเชิงตรรกะอ่อน แต่ต้องใช้ทักษะนี้ทั้งการเรียนหรือการทำงาน อาจจะต้องพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาเพิ่มเพื่อพัฒนาศักยภาพให้เพียงพอในการใช้ชีวิต
ขั้นตอนที่ 3: การทำแผนที่ทักษะ (Skill Mapping)
ทำแผนที่ทักษะของตนเองสำหรับสติปัญญาแต่ละประเภทที่ต้องการการปรับปรุง โดยให้ระบุทักษะและความสามารถที่เกี่ยวข้องในการพัฒนา ตัวอย่างเช่น:
ปัญญาทางตรรกะและคณิตศาสตร์: ปรับปรุงการแก้ปัญหาและการใช้เหตุผลเชิงวิเคราะห์
ปัญญาระหว่างบุคคล: พัฒนาการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งและทักษะการฟังอย่างกระตือรือร้น
ขั้นตอนที่ 4: การจัดสรรทรัพยากร (Resource Allocation)
การระบุเครื่องมือที่ตรงกับประเภทของปัญญาที่กำลังต้องการการพัฒนามากที่สุด ตัวอย่างการออกแบบเพื่อให้เห็นแนวทางการจัดสรรและเลือกใช้ทรัพยกรที่มีอยู่ในมือให้เกิดประสิทธิภาพ:
ปัญญาทางภาษาศาสตร์: เวิร์กช็อปการเขียน แอปไวยากรณ์ หรือหลักสูตรการพูดในที่สาธารณะ
ปัญญาด้านการดำรงชีวิต : ออกเดินทางหรือไปทดลองใช้ชีวิตในแบบที่ไม่เคยทำ เพื่อเปิดมุมมองการมองโลก และฝึกทักษะการเอาตัวรอดในสถานการณ์แบบต่าง ๆ (แต่อย่าถึงขั้นนำตัวเองเข้าสู่สถานการณ์ที่เสี่ยงต่อชีวิต)
ขั้นตอนที่ 5: วิธีการและกิจกรรม (Methodology and Activities)
วางแผนกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อสร้างการทักษะทางปัญญาที่หลากหลาย ผ่านกิจกรรม หรือการออกแบบชุดกระบวนการเรียนรู้ เช่น
ปัญญาด้านดนตรี: ใช้ดนตรีหรือจังหวะ สร้างการจดจำข้อมูล ตัวอย่างแบบครูพี่หลินตัวละครจากภาพยนตร์ฉลาดเกมโกง ที่ใช้วิธีการจำเฉลยข้อสอบผ่านโน้ตเปียโน
ปัญญาทางร่างกายและการเคลื่อนไหวร่างกาย: บูรณาการกิจกรรมทางกายเข้ากับการเรียนรู้ เช่น การเล่น การออกกำลังกาย เล่นกีฬาที่ชอบ การได้ลองฝึกบ่อย ๆ จะช่วยให้เกิดทักษะความเชี่ยวชาญได้
ขั้นตอนที่ 6: กำหนดระยะเวลา Timeline
กำหนดเป็นขั้นตอนมีเริ่มต้น และสิ้่นสุด ประเมินระยะเวลาตามความเป็นจริงที่ทำได้ และต้องติดตามความคืบหน้าและอัปเดตตารางการปฏิบัติเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะได้เห็นความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น
ขั้นตอนที่ 7: เพื่อนช่วยเพื่อนและพี่เลี้ยง Peer and Mentor Support
ให้เพื่อนร่วมงานและพี่เลี้ยงที่เก่งในด้านสติปัญญาที่กำลังพัฒนาให้เข้ามามีส่วนร่วม ความใกล้ชิดทำให้สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกและจุดที่ต้องแก้ไขได้
ขั้นตอนที่ 8: วงจรของการสะท้อนความคิดเห็น (Feedback Loops)
ทบทวนความคืบหน้าร่วมกับหัวหน้างาน พี่เลี้ยง หรือเพื่อนร่วมงานเป็นประจำ รวบรวมคำติชมและปรับแผนตามความจำเป็น และยิ่งถ้าเป็นวงจรสะท้อนกลับเชิงบวก (Positive feedback loop) แล้วละก็จะยิ่งทำให้การพัฒนามีประสิทธิภาพและความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานนั้นดีขึ้นไปด้วย
ขั้นตอนที่ 9: การประเมินอย่างเป็นทางการ (Formal Assessments)
การประเมินอย่างเป็นทางการควรทำในระยะที่สามารถวัดผลการปรับปรุงตามวัตถุประสงค์ได้แล้ว อาจใช้การประเมินผ่านการทำแบบทดสอบง่าย ๆ ไปจนถึงการประเมินแบบลงรายละเอียดมากขึ้น
ขั้นตอนที่ 10: ไตร่ตรองและแก้ไข (Reflect and Revise)
เมื่อดำเนินการตามแผนและการประเมินเสร็จสิ้น ให้สะท้อนประสิทธิผลโดยรวมของ Personalized Development Plan (PDP) ทำการแก้ไข ปรับปรุงตามความจำเป็นเพื่อการพัฒนาปัญญาด้านต่าง ๆ ในอนาคต
ด้วยการบูรณาการพหุปัญญาของการ์ดเนอร์เข้ากับแผนการพัฒนาเฉพาะบุคคลหรือเส้นทางการเรียนรู้ คุณจะสามารถเข้าถึงทักษะและความสามารถที่หลากหลายและหลากหลายของตัวคุณเอง บุคลากรในองค์กรซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาปัญญา ทักษะเฉพาะบุคคล และในสายงานวิชาชีพแบบองค์รวมมากขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- “การนิเทศการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และระบบนิเวศทางการศึกษาสู่สมรรถนะของผู้เรียน
- https://www.skillshub.com/blog/gardner-multiple-intelligences-theory-workplace-implications/
6,814
Writer
- Admin I AM KRU.