“หลังจากที่เด็กได้รับทุนในโครงการของ กสศ. ชีวิตของพวกเขาก็เปลี่ยนไปมาก มีกำลังใจมาเรียน ถ้าได้ทุนแบบนี้ทุกเทอมก็จะเป็นกำลังใจให้พวกเขามาเรียน”
ว่าที่พันตำรวจตรี วิชัย ชัยนา คุณครูที่ศูนย์การเรียนตำรวจระเวนชายแดน (ศกร.ตชด.) ชุมชนป่าหญ้าคา จ.อุบลราชธานี
“โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน” เป็นสถานที่แรก ๆ ที่หลายหน่วยงานให้ความสำคัญในเรื่องการเพิ่มคุณภาพการศึกษา มีหลายปัจจัยที่ทำให้พบความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) หนึ่งคือโรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เดินทางเข้ามาลำบาก ครูจากพื้นที่อื่น ๆ จึงไม่สะดวกที่จะมาสอน จนต้องฝึกอบรมให้ตำรวจมาเป็นคุณครูสอนเด็ก ๆ ที่นี่ สองคือโรงเรียน ตชด. นั้นอยู่ห่างไกลจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์การศึกษา และบุคลากรคุณภาพ และอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญ คือฐานะครอบครัวของนักเรียนโรงเรียน ตชด. นั้นไม่ดีนัก หลายบ้านไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลา
ด้วยเหตุผลดังกล่าว การติดตามให้ความช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียน ตชด. จึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนสำหรับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทีมงานใน กสศ. เร่งค้นหาและคัดกรองนักเรียนเพื่อให้ความช่วยเหลือได้มากที่สุด ผ่านการมอบเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือ “ทุนเสมอภาค” ที่มอบให้นักเรียนเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาและดำรงชีวิต อีกส่วนมอบให้โรงเรียนเพื่อจัดโครงการส่งเสริมพัฒนาทักษะชีวิต
ทุนการศึกษาพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ศกร.ตชด.) ชุมชนป่าหญ้าคา ต.โนนก่อ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี เป็นสถานศึกษาหนึ่งที่ตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดารบนพื้นที่เนินสูง ครอบครัวของนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ผู้ปกครองรับจ้างกรีดยางอยู่ในพื้นที่ บางส่วนออกไปรับจ้างต่างพื้นที่ บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นแค่เพิงพักชั่วคราว ไม่มีห้องน้ำ น้ำประปา และไฟฟ้า แต่เด็กส่วนใหญ่ยังมุ่งมั่นมาเรียนเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น
ว่าที่พันตำรวจตรี วิชัย ชัยนา คุณครูที่ศกร.ตชด.ชุมชนป่าหญ้าคา ทำหน้าที่เป็นทั้งครูผู้สอน และผู้คัดกรองนักเรียนเพื่อรับทุนการศึกษาจากกสศ. ในช่วงของการคัดกรองนักเรียนครูจะต้องลงไปเยี่ยมบ้านเด็ก พบว่าบางบ้านเป็นเพียงแค่เพิงพัก มีไม้ปูพื้น ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเพิงมีตายายและหลาน ส่วนพ่อแม่ไปรับจ้างต่างจังหวัด บ้างเข้าทำงานในกรุงเทพฯ บางบ้านไม่มีไฟฟ้า ต้องใช้ตะเกียงหรือโซลาร์เซลล์แทน บางบ้านมีเครื่องปั่นไฟ บางบ้านมีแบตเตอรี่ที่ต้องเอามาชาร์จไฟที่โรงเรียนแล้วกลับไปใช้ที่บ้าน อีกทั้งบางบ้านก็ไม่มีน้ำประปาเข้าถึง ต้องมาใช้น้ำสระที่โรงเรียนเพื่ออุปโภคบริโภค
“บางบ้านห่างจากโรงเรียน 3-4 กิโลเมตร ต้องเดินทางมาโรงเรียน บางคนต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อให้มาทันเข้าเรียน บางทีก็มีผู้ปกครองมาส่งหรืออาศัยมากับเพื่อนบ้านที่มาเส้นทางเดียวกัน ส่วนใหญ่จะอยู่พื้นที่ทางชัน เดินทางลำบาก ต้องนั่งรถเครื่องขึ้นไปผ่านเส้นทางหิน ทางขรุขระ ไม่เหมือนพื้นราบเพราะเราอยู่บนยอดเขา ใช้เวลา 2 วันกว่าจะไปครบทุกบ้าน แต่หน้าที่ก็ต้องทำ สุดท้ายพอเห็นเด็กได้ทุนเราก็ภูมิใจหายเหนื่อย”
ว่าที่พันตำรวจตรีวิชัยกล่าว
ว่าที่พันตำรวจตรีวิชัย ระบุว่า ในเทอมนี้นักเรียนได้รับทุนจากกสศ.ครบทุกคนแล้ว นักเรียนส่วนใหญ่เอาไปเป็นทุนการศึกษา ซื้ออุปกรณ์การเรียนเพิ่มเติม รวมถึงเครื่องแบบนักเรียน ทั้งเสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า กระเป๋า สำหรับทุนในส่วนของโรงเรียน คณะครูได้เอาไปจัดโครงการเพาะเห็ดนางรม เลี้ยงไก่พันธุ์เนื้อ เพื่อขายและนำมาเป็นกองทุนอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หลังจากที่เด็กได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. ชีวิตของพวกเขาก็เปลี่ยนไปมาก ว่าที่พันตำรวจตรีวิชัยเห็นว่า หากนักเรียนได้ทุนแบบนี้ทุกเทอมก็จะเป็นกำลังใจให้พวกเขามาเรียนมากขึ้นกว่าเดิม
“ต้องขอบคุณ กสศ. ที่เห็นความสำคัญของพวกเขา เพราะเด็กที่นี่ยากจนกันจริง ๆ พอได้ทุนมาก็ทำให้เขาได้มีอาหารกิน มีชุดนักเรียนใหม่ ๆ ใส่เหมือนเพื่อน ๆ มีชุดกีฬา มีความสุขอยากมาโรงเรียน มีเงินติดตัวมาเรียน 5 บาท 10 บาท เหลือก็มาฝากกับสหกรณ์ออมเก็บไว้ใช้ซื้อของจำเป็นในอนาคต”
อุดหนุนนักเรียน แบ่งเบาภาระผู้ปกครอง
โรงเรียน ตชด. ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์เนวิน สคริมชอว์ อ.บุณฑริก จ. อุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนตัวอย่างที่ได้รับทุนเสมอภาคจากกสศ. โรงเรียนนี้มีโครงการเพื่อดูแลความเป็นอยู่ของเด็กมาระยะหนึ่งแล้ว เช่นการเพาะเห็ดเพื่อนำไปแปรรูป สร้างรายได้ให้แก่นักเรียนและโรงเรียน เมื่อได้ทุนเสมอภาคจากกสศ.เข้ามาช่วยอุดหนุน การดำเนินการจึงง่ายขึ้น
ครูไพจิตรา สมศรี ครู เล่าให้ฟังว่า ทุนเสมอภาคของ กสศ. ที่ได้รับมาทางโรงเรียนจะนำไปทำโครงการต่อยอดแปรรูปเห็ด จากเทอมที่แล้วใช้จัดโครงการเพาะเห็ด ซึ่งจะแปรรูปทั้งทำเป็นคุกกี้เห็ด น้ำพริกเห็ด ซึ่งวางแผนไว้แล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ โดยจะเชิญวิทยากรที่เป็นครู และปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่มาช่วยอบรมให้กับนักเรียน และนำไปขายเพื่อนำมาปันผลให้นักเรียนและซื้ออุปกรณ์ทำในรอบต่อๆ ไป
“เงินที่ได้มาเด็กบางคนเอาไปซื้อจักรยาน เพราะบางคนบ้านอยู่ไกล บางคนอยู่ในไร่ กว่าจะมาถึงโรงเรียนต้องเดินทางเกือบเป็นกิโลฯ บางครอบครัวก็เอาไปช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว ซื้อของกินของใช้ ซื้อกระเป๋าใหม่ อุปกรณ์การเรียนใหม่ ถึงจะไม่ใช่เงินเยอะมาก แต่ก็ช่วยครอบครัวผู้ปกครองได้เยอะ ทำให้เขาไม่ต้องหยุดเรียนไปช่วยผู้ปกครองทำงานเหมือนแต่ก่อน ก็เลยมาเรียนได้มากขึ้น”
ครูไพจิตรากล่าว
ครูไพจิตรากล่าวเสริมว่า ระบบคัดกรองของ กสศ. สามารถช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด คนที่จนมากกว่าจะได้รับการช่วยเหลือก่อน นักเรียนบางคนแม้จะยากจน แต่ก็พอมีฐานะกว่าเพื่อน ทางกสศ.ก็ให้รอความช่วยเหลือก่อน เพื่อที่จะไปช่วยเด็กที่เดือดร้อนกว่าก่อน จากการลงพื้นที่สำรวจบ้านนักเรียน บางคนอยู่แบบเพิงพักไม่ใช่บ้าน ทั้งครอบครัวนอนรวมกันในห้องโล่ง ๆ ไม่มีห้องน้ำ อยู่ในป่า ไม่มีน้ำ ไฟ จะดูทีวีก็ต้องไปดูที่บ้านที่มีโซลาร์เซลล์
“ตอนไปเยี่ยมบ้านเด็กที่โรงเรียนเก่าชุมชนป่าหญ้าคา ก่อนย้ายมาที่นี่ ก็ต้องนั่งรถมอเตอร์ไซค์ไปกับเพื่อนครู ขี่ไปในป่ายางพารา เพราะรถกระบะเข้าไปไม่ได้ ต้องขึ้นเนินที่เป็นทางชันเล็ก ๆ เกือบล้ม บางทีก็ให้นักเรียนช่วยพาไป เพราะบ้านบางคนอยู่ลึกมาก ติดกับชายแดนลาว แต่ก็ไปจนครบทุกบ้านเพราะอยากให้เด็กได้ทุน พอได้แล้วเราก็ภูมิใจที่ทำให้เด็กได้ทุนทำให้เขาได้มีโอกาสทางการศึกษาที่จะโตเป็นคนดีมีอนาคตต่อไป”
ครูไพจิตรา กล่าว
ตัวอย่างจากโรงเรียน ตชด. เหล่านี้ ทำให้กสศ.และหน่วยงานการศึกษาเห็นโอกาสในการสร้างเยาวชนดี ๆ ในพื้นที่ห่างไกลมากขึ้น เด็กในพื้นที่ชายแดนล้วนมีศักยภาพการเรียนรู้ และทักษะการใช้ชีวิตที่ดี เพียงแต่ขาดทุนทรัพย์ที่จะสานต่อการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น กสศ.จึงตั้งใจที่จะขยายทุนเสมอภาคนี้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ มากขึ้น เพื่อสร้างความสำเร็จแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นแล้วในสองโรงเรียนข้างต้น
2,013
Writer
- เอื้อการย์ โรจนจิรไพศาล (มะแม้ว)
- นักเขียนผู้หลงรักการผจญภัยในเมือง ปรัชญาในชีวิตจริง และการไป Cafe Hopping ทั่วทุกมุมเมือง