หลักสูตรเพื่อครู ตชด. เพิ่มคุณวุฒิวิชาชีพครู
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จับมือ กองบัญชาการตำรวนตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) ร่วมสร้างโอกาสติดอาวุธให้ครู ตชด. โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย พร้อมออกแบบหลักสูตรจัดการศึกษาเพิ่มคุณวุฒิวิชาชีพครู ตชด. โดยไม่ต้องทิ้งห้องเรียน นำร่อง 50 โรงเรียน ตชด. หวังผลลัพธ์ช่วยเติมโอกาสเพิ่มเติมสมรรถนะเด็กในพื้นที่โรงเรียนห่างไกลให้มีคุณภาพการศึกษา “บช.ตชด. ส่งตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ไปเป็นครูสอนเด็กในถิ่นทุรกันดาร และมีการก่อตั้งโรงเรียนแห่งแรกเมื่อ ปี 2499 ในสังกัด ตชด.
.
ปัจจุบันมี 220 แห่ง จัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับโรงเรียนทั่วไป มีนักเรียน 26,557 คน มีครู ตชด. 1,467 คน พบว่า ครูจำนวนหนึ่งยังไม่มีคุณวุฒิทางการศึกษา เพราะต้องใช้ระยะเวลาเดินทางมาก บางช่วงเวลาไม่สามารถเดินทางได้ ทำให้ครู ตชด. ไม่สามารถเรียนจบตามแผนการศึกษาปกติที่มหาลัยกำหนดได้ บช.ตชด. เห็นความสำคัญของปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น จึงร่วมกับ กสศ. ทำโครงการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร” พลตำรวจโทวิชิต ปักษา ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กล่าว “การพัฒนาโครงการพัฒนาครูในโรงเรียน ตชด.ฯ นี้ เริ่มจากมหาวิทยาลัยลงพื้นที่ไปรับฟังความเห็นจากครู นักเรียน และชุมชน เพื่อรับฟังความต้องการและให้เห็นสภาพพื้นที่จริง ก่อนนำมาออกแบบหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการและมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นลดปัญหาข้อจำกัดของครู ตชด. ด้านการเดินทาง และไม่สามารถเรียนในหลักสูตรปัจจุบันได้ โดยการเรียนการสอนสามารถให้ใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว และสื่อออนไลน์ มาเสริมในโครงการนำร่องให้เกิดประโยชน์และพัฒนาต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม”
.
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าว “ครู ตชด. เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ สอนเด็กด้อยโอกาสขาดแคลนทุนทรัพย์ในพื้นที่ห่างไกลติดชายแดน ขณะที่ผลการสอบ O-NET ของเด็กโรงเรียน ตชด. จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาโดยตลอด กสศ. มุ่งหวังให้โครงการพัฒนาครูในโรงเรียน ตชด.ฯ ไปช่วยครู ตชด. ยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็ก ได้ผ่าน 2 เรื่อง คือ
1.พัฒนาครูโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เติมเต็มทฤษฎีจากคณาจารย์ พี่เลี้ยง
2. ให้ครูมีโอกาสเพิ่มความรู้และวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยคำนึงถึงบริบทความยากลำบากด้านการเดินทาง และถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะมีหลักสูตรเพื่อครู ตชด. โดยเฉพาะ คาดว่าในปี 2565 จะมีครู ตชด. ได้รับการศึกษาจากหลักสูตรนี้เป็นรุ่นแรก จากพื้นที่นำร่องโครงการ 50 แห่งทั่วประเทศ”
.
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าว “การดำเนินงานจะทำคู่ขนาน นำบริบทของแต่ละโรงเรียนมาเป็นเกณฑ์หลักในการออกแบบหลักสูตร 2 ลักษณะ คือ
1. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู
2. หลักสูตรนวัตกรรมการศึกษาตลอดชีวิตบูรณาการประถมศึกษา ซึ่งเป็นคุณวุฒิสำหรับพัฒนาครู ตชด. เป็นหลักสูตรที่จะบูรณาการระหว่างองค์ความรู้ด้านวิชาการที่จำเป็นต่อการเป็นครูประถมศึกษา ความรู้บริบทโรงเรียนที่ชุมชนมีความหลากหลายทั้งแง่วิถีชีวิต วัฒนธรรม และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของครู ตชด. ได้อย่างเหมาะสม มีสมรรถนะและคุณวุฒิที่สามารถพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพเป็นครูมืออาชีพในอนาคต” ดร.สุธาสินี บุญญาพิทักษ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการพัฒนาครูในโรงเรียน ตชด. ฯ กล่าว
7,452
Writer
- Admin