“หัวใจสำคัญในการจัดการเรียนรู้คือการมองนักเรียนเป็นศูนย์กลางอยู่ทุกขณะจิต ทั้งในการจัดกระบวนการต่าง และการวางเป้าหมายการสอน”
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ปัจจุบันการส่งมอบความรู้ให้นักเรียนทำได้หลากหลายวิธี ไม่ใช่แค่การสอนหน้าห้อง เพราะเมื่อมีช่องทางออนไลน์เข้ามา การศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ทำได้ง่ายขึ้นมาก และนักเรียนสามารถทำได้ด้วยตนเอง หน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ จึงต้องปรับโฟกัสการสอนใหม่ คือ “การจัดการความรู้” บนคำถามสำคัญคือ บุคลากรทางการศึกษาจัดการความรู้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพทรงพลังที่สุด?
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงได้จัดโครงการครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยงออนไลน์ เพื่อเติมเต็มความรู้ให้กับครู ผู้ที่ต้องถ่ายทอดเนื้อหาต่าง ๆ ให้แก่นักเรียน โครงการนี้มุ่งเน้นให้ครูเห็นความสำคัญของการประยุกต์เนื้อหาในบทเรียนเข้ากับชีวิตประจำวันของนักเรียน และร่วมกันสร้างวิธีการเรียนรู้ที่ดี เพื่อให้เด็กเข้าใจแก่นของเนื้อหา ไม่ใช่แค่ท่องจำได้ สิ่งที่น่าสนใจของโครงการนี้คือ ครูจะต้องมีความรู้เรื่องไหน และทำอะไรบ้าง เพื่อให้ตอบจุดประสงค์ของโครงการ
สร้างการเรียนรู้แบบประจักษ์ชัดสำหรับนักเรียนทุกคน
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในการประชุมของโครงการว่า เป้าหมายการเรียนรู้ที่แท้จริงในยุคนี้จะต้องก้าวจากระดับพื้นผิว (superficial) ไปสู่ระดับลึก (deep) จนไปถึงระดับที่สามารถนำความรู้เชื่อมโยงประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ (transfer) ดังนั้นจึงไม่ควรตกหลุมความผิวเผินของเนื้อหา นั่นคือการท่องจำที่ปราศจากความเข้าใจ
แก่นที่สำคัญของการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่การเรียน “วิชา” แต่ต้องเจาะลึกไปถึงการกล่อมเกลานิสัย ความเชื่อ และคุณธรรมซึ่งสำคัญต่อชีวิตมากกว่าเนื้อหาทั่วไป รูปแบบการเรียนรู้ที่อยากให้แต่ละโรงเรียนยึดเป็นต้นแบบคือ “การเรียนรู้อย่างประจักษ์ชัด” หรือ Visible Learning ซึ่งเน้นหา “คุณค่า” ที่ซ่อนอยู่ ทั้งครูและลูกศิษย์ต้องมีความชัดเจนตั้งแต่เรื่องคุณค่าของการเรียนต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน และการต่อยอดในอนาคต เด็กควรจะบรรลุ 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1. สร้างเป้าหมายที่ชัดเจน เป้าหมายที่ดีและชัดเจนจะทำให้เด็กขวนขวายและพัฒนาตัวเองให้ไปถึงได้ 2. เห็นผลการเรียนรู้ตัวเอง ผ่านสิ่งที่ตนเองสร้างขึ้น 3. เห็นพฤติกรรมการเรียนรู้ตัวเอง ว่าตนเองเหมาะที่จะเรียนด้วยวิธีใด และในสภาพแวดล้อมแบบใด และ 4. สามารถพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตัวเอง กำกับตัวเอง ประเมินตัวเอง และปรับวิธีการเรียนของตัวเองได้
จัดการเรียนแบบองค์รวม โดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง
ส่วนเป้าหมายของครู คือการดูแลนักเรียนให้สามารถหาเป้าหมายของตนเองจนเจอ ครูจะต้องรู้จักนักเรียนแต่ละคนเพื่อกำหนดเป้าหมายให้สอดรับกับความต้องการ ความถนัด ความสนใจของนักเรียนแต่ละคน ด้วยวิธีการจัดการเรียนแบบองค์รวม (Holistic Learning) การเรียนแบบนี้ไม่ได้ให้แค่เนื้อหาวิชาการ แต่เป็นกระบวนการที่พัฒนาทั้งทัศนคติ ทักษะ และ ความรู้ นำไปสู่การเรียนระดับลึก และระดับเชื่อมโยง ที่นักเรียนจะไปต่อยอดได้ด้วยตนเอง โดยร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งผู้บริหาร ครูคนอื่น ครอบครัวของนักเรียน และชุมชน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเรียนรู้มากที่สุด
“หัวใจสำคัญในการจัดการเรียนรู้คือการมองนักเรียนเป็นศูนย์กลางอยู่ทุกขณะจิต ทั้งในการจัดกระบวนการต่าง และการวางเป้าหมายการสอน โดยครูจะต้องสร้างศิษย์ สร้างตัวเอง และสร้างศักดิ์ศรีวิชาชีพครู ซึ่งการสร้างอนาคตของชาติครูจะต้องเป็นผู้ก่อการ ต้องพัฒนาทักษะความเป็นครู ซึ่งไม่ใช่แค่ครูแต่ยังรวมไปถึงผู้บริหาร ผู้ปกครอง ชุมชน รวมถึงผู้ใหญ่ในกระทรวงซึ่งเป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์ ส่งเสริมซึ่งกันและกัน”
เรียนรู้ผ่านการลงมือทำและสะท้อนความคิด
ศ.นพ.วิจารณ์ เจาะลึกเข้ามาในส่วนของกระบวนการการเรียนรู้ โดยให้มุมมองว่า การจัดการเรียนรู้จะต้องไม่ใช่การถ่ายทอดความรู้ให้เด็กเป็นหลัก แต่จะต้องเน้นให้เด็ก “ปฏิบัติ” เพื่อสร้างความรู้ใส่ตัว เพราะหลักการเรียนรู้สมัยใหม่ สมองมนุษย์เรียนรู้ได้ดีที่สุดผ่านประสบการณ์ และการสะท้อนความคิดของตนเอง หรือรีเฟล็กชั่น ซึ่งมีทั้งการทำคนเดียวคือการเขียนแผนภูมิมโนทัศน์ (mind mapping) หรือแผนภูมิใจความสำคัญ (concept mapping) เพื่อจัดระเบียบและกระตุ้นความคิดให้เข้าใจเนื้อหามากขึ้น และการร่วมกันคิดแบบกลุ่ม ผ่านการนำเสนอที่มี Facilator หรือผู้ดูแลกระบวนการคอยสนับสนุนพวกเขา
สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ สู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
อีกประเด็นที่ครูควรให้ความสำคัญคือ “การสร้างบรรยากาศ” ที่สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก ครูและผู้ดูแลกระบวนการต้องทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็กทุกคน ไม่ตำหนิเด็ก แต่ควรให้ feedback เพื่อการปรับปรุงพัฒนาตนเองผ่านคำพูดที่ดี ทำให้เด็กไม่ต้องกลัวที่จะตอบผิด เมื่อเด็กได้อยู่ในบรรยากาศการเรียนที่ดี เขาจะสนใจเรียนมากขึ้น และเริ่มมีเป้าหมายในใจที่แตกต่างกันออกไป ครูและผู้ดูแลกระบวนการมีหน้าที่ช่วยเด็กกำหนดเป้าหมายเป็นรายคน พร้อมกับการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนรู้สึกท้าทายและสนุกในทุกคาบเรียน
สำหรับการทำงานของโครงการครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยงออนไลน์ในปัจจุบัน ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า โครงการครูเพื่อศิษย์ได้จัดการอบรมให้กับครูผ่านระบบ Zoom มามากกว่าสามครั้ง ในการอบรมทุกครั้งมุ่งให้ครูได้สิ่งดี ๆ เพื่อพัฒนาผลการเรียนรู้ของลูกศิษย์ตัวเอง
ปัจจุบันโรงเรียนที่ร่วมมือในโครงการครูเพื่อศิษย์ ได้เริ่มสร้างการเรียนรู้ของนักเรียนให้ไปสู่ระดับเชื่อมโยงแบบเป็นที่ประจักษ์ ผ่านโครงงานหรือผลิตภัณฑ์ที่นักเรียนสร้างขึ้นมาได้ด้วยตนเอง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการเรียนรู้ได้ดีและปลอดภัย พร้อมทั้งมีครูกับผู้ดูแลกระบวนการคอยช่วยเหลือ โดยที่ ศ.นพ.วิจารณ์ และ ดร.อุดม มีความคาดหวังว่าการเรียนรู้แบบนี้จะขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป
2,952
Writer
- เอื้อการย์ โรจนจิรไพศาล (มะแม้ว)
- นักเขียนผู้หลงรักการผจญภัยในเมือง ปรัชญาในชีวิตจริง และการไป Cafe Hopping ทั่วทุกมุมเมือง