เริ่มสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น
การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่เริ่มจากการสร้างครูผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่นักเรียนซึ่งเป็นความมั่นคงของประเทศในอนาคต แต่หลายครั้งที่ความพยายามนั้นไม่อาจสำเร็จได้ทั้งหมด เพราะติดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล
เพราะเหตุนี้จึงเกิดโครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ หรือ โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้เป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และได้รับความร่วมมือจากอีกหลายภาคส่วนในการร่วมขับเคลื่อนกระบวนการทำงานให้ได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันโครงการได้ก้าวเข้าสู่ปีที่สองโดย รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการ ครูรัก(ษ์)ถิ่น ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานแต่ละขั้นตอนว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ หรือมีอุปสรรคปัญหาอะไรที่ต้องจัดการแก้ไขหรือเปล่าโดยตลอด
“เพราะว่าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จากทุกสถาบันล้วนมีเป้าหมายที่ชัดเจน คือการสร้างบัณฑิตด้านปฐมวัยและประถมศึกษา เพื่อที่ให้เขากลับไปบรรจุเป็นครูที่บ้านของเขา และแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในประเทศ อย่างครูในชนบทที่ห่างไกล ถ้าไม่ใช่บ้านของเขาเองหรือไปสอนต่างถิ่น อย่างครูจากภาคอีสานไปบรรจุภาคใต้ จากภาคกลางไปบรรจุภาคเหนือ ทำให้เขาไม่รู้บริบทของชุมชน ทั้งเรื่องวิถีชีวิตและวัฒนธรรมต่าง ๆ พอเริ่มปรับตัวยากครูก็ไม่มีความสุขและเด็กก็ไม่ถูกครูเข้าใจวิถีชีวิตของเขาจริง ๆ เห็นได้ชัดในเรื่องของภาษา โดยเฉพาะทางภาคเหนือบางแห่งไม่ได้ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารเป็นหลัก”
กล่าวโดย รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ
เพราะครูรัก(ษ์)ถิ่นไม่ได้สอนหนังสือเพียงอย่างเดียว
โครงการนี้ถูกออกแบบจากหลักสูตรการผลิตครูตามบริบทของพื้นที่ โดยอาจารย์ผู้ดูแลหลักสูตรต้องลงพื้นที่เพื่อค้นหาทิศทางและบริบทท้องถิ่นที่แท้จริง รวมถึงการสอนให้เป็นครูรุ่นใหม่ยุค 4.0 ผ่านความต้องการเรียนรู้ของเด็กสมัยใหม่ และสิ่งเหล่านี้จะส่งผลดีเมื่อนักศึกษาเรียนจบแล้วไปสอบบรรจุ ก็สามารถนำความรู้นี้ไปพัฒนาโรงเรียนปลายทางได้พร้อม ๆ กัน
อีกหนึ่งเป้าหมายคือการผลิตครูปฐมวัยและประถมศึกษาหลายเป็นความต้องการหลักของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีตั้งแต่เด็กอนุบาลถึงป.6 หรือบางโรงเรียนมีนักเรียนเพียง 20 ถึง 30 คน ทำให้ครูต้องสามารถสอนได้ทุกวิชาหรือสอนแบบคละชั้นได้ และควรรู้ทักษะการสังเกตนักเรียนในห้องอย่างทั่วถึง สามารถบ่งชี้ได้ว่าเด็กคนไหนมีพัฒนาการช้ากว่าคนอื่น เพื่อบอกให้ผู้ปกครองนำลูกของเขาไปกระตุ้นพัฒนาการเพิ่มเติม ซึ่งเทคนิคเหล่านี้จะต้องอยู่ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน
รศ.ดร.ดารณี เล่าให้ฟังอีกว่า
“เราตั้งใจสร้างเขาไปเป็นครู กลับไปสู่ชุมชนและบ้านเกิดของเขา โดยที่เราก็จะได้ครูที่มีคุณภาพ เพราะเราออกแบบหลักสูตรให้ตรงตามที่เราต้องการ โดยมีสถาบันผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นผู้ดูแล นอกจากเราจะต้องการครูที่มีคุณภาพเป็นผู้สอนระดับประถมวัยแล้ว เรายังอยากให้เขาเป็นนักพัฒนาชุมชนและเป็นเสาหลักให้แก่ชุมชนด้วยเช่นกัน”
“เพราะฉะนั้นครูต้องมีบทบาทที่ไม่ใช่แค่สอนหนังสือเพียงอย่างเดียว ครูจะต้องมีทักษะในการทำงานกับชุมชนด้วย โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กหรือตามพื้นที่ห่างไกล เป็นโรงเรียนของชุมชน หรือแม้กระทั่งโรงเรียนในเมืองก็ตาม ควรให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน ผ่านการระดมความคิด สร้างความร่วมมือในพื้นที่ ถ้าชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม พ่อแม่ก็ยิ่งกลายเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยพัฒนาโรงเรียนของลูก ทำให้เกิดการเข้ามีส่วนร่วมของชุมชนโดยให้โรงเรียนเป็นฐาน”
ต้นทุนของการสร้างครูผู้ถ่ายทอดความรู้
เมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี 1 ใน 11 สถาบันที่ร่วมทำงานในโครงการนี้ จึงเล็งว่าการจะบรรลุเป้าหมายตามต้องการได้นั้น ‘สถาบันผลิตและพัฒนาครูถือสิ่งสำคัญที่สุด’ และค้นพบปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนจากรายละเอียดเล็กน้อยไปจนถึงเชิงลึก เช่น คอมพิวเตอร์ของนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ไม่มีประสิทธิภาพ จึงนำไปสู่การจัดซื้อ จัดหาคอมพิวเตอร์ให้ เพราะถือเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อพัฒนาการเรียนรู้
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 4 ปีจากการเข้าร่วมโครงการของนักศึกษาแต่ละคน ไมไ่ด้ผลักดันให้เขาเป็นครูที่มีคุณภาพเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเติมเต็มชีวิตของพวกเขาด้วย
“เห็นได้ชัดว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะออกแบบหลักสูตร ที่ไม่ใช่สอนเฉพาะวิชาจากคณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์เท่านั้น แต่เขาจะระดมครูจากคณะต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาเด็กของเรา อย่างเช่น สาขาพัฒนาชุมชน สาขาการศึกษาพิเศษ สาขาจิตวิทยา ตลอดระยะเวลาสี่ปี”
“เราลงทุนสูงมากกับโครงการนี้และเงินที่ลงทุนก็เป็นภาษีของประชาชน แต่เป้าหมายของ กสศ. คือการสร้างครูรุ่นใหม่ มอบโอกาสที่จะเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย จากที่ไม่เคยคิดว่าจะมีโอกาส เมื่อมีโอกาสแล้วเราก็จะบ่มเพาะให้พวกเขาใช้โอกาสในทางที่ถูกที่ควร และบ่มเพาะให้มีจิตสำนึกของบุญคุณแผ่นดินที่ทุกคนในประเทศไทยได้ร่วมกันให้โอกาส เขาเรียนจบแล้วสิ่งที่เราคาดหวัง คือให้เขามีจิตสำนึกของความเป็นครู และสำนึกรักท้องถิ่นที่จะกลับไปสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้ท้องถิ่น ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีโครงการผลิตครูที่ตอบโจทย์เฉพาะเรื่องของประเทศโดยตรง”
ลดความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพทางการศึกษาด้วยครูที่มีคุณภาพ
ปัจจุบันชนบทกลายเป็นฐานสำคัญของผลิตเยาวชนรุ่นใหม่จำนวนมากซึ่งจะมีบทบาทเรื่องการพัฒนาประเทศในอนาคต ขณะเดียวกันยังคงเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่มากเช่นกัน และปัญหานั้นถูกแบ่งเป็นสองประเด็นสำคัญคือ ‘ความเหลื่อมล้ำในโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาและเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพ’
ทุกวันนี้ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาได้เกือบทั้งหมดแล้ว หากเด็กตกหล่นจากโรงเรียนก็ยังมี กศน. มารองรับ เพราะฉะนั้นโอกาสทางการศึกษาทุกคนมีความเสมอภาค แต่ประเด็นสำคัญคือเกิดความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพค่อนข้างสูง ซึ่งต้องหาวิธีแก้ไขปัญหานี้เช่นกัน ทำให้โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจึงพยายามผลิตครูคุณภาพเข้าไปสู่โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในชนบทเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนี้ให้ได้มากที่สุด
รศ.ดร.ดารณี กล่าวเสริมว่า
“สำหรับประเด็นเรื่องเป้าหมายโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกลนั้น ยังสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง ซึ่ง กสศ.ไม่สามารถทำได้ในวงใหญ่ทั้งหมดแต่เราสามารถลงมือทำในเชิงลึกปฏิบัติ ศึกษา วิจัย สร้างโมเดลและส่งต่อให้กับผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในการดำเนินการต่อไป”
โดยความคืบหน้าของครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นสองนั้นดำเนินมาถึงการคัดเลือกสถาบันที่จะผลิตครูประถมและปฐมวัยเรียบร้อยแล้ว เพื่อเตรียมทำเวิร์คช็อปบอกเล่าประสบการณ์ของพี่รุ่นแรก และในปีถัดไปจะมีการวิเคราะห์ว่าโรงเรียนเหล่านี้ต้องการเฉพาะวิชาด้านไหนบ้าง อาจเป็นครูพละหรือเปล่า ถึงแม้ว่าครูน่าจะสอนภาษาไทยได้ แต่ก็ควรมีทักษะเฉพาะบางอย่างเพื่อช่วยพัฒนาเด็กได้มากขึ้นอีก เช่น กลไกการเคลื่อนไหวที่จะช่วยเด็กพิการหรือเด็กพัฒนาการช้าพัฒนาได้ดี
บริบทของท้องถิ่นสำคัญต่อการเรียนรู้
นอกจากนี้ โครงการต้องการสร้างให้เกิดแหล่งเรียนรู้ที่กว้างขวาง จึงจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบันผลิตครูแต่ละแห่ง เพราะทุกสถาบันก็มีนวัตกรรมการผลิตครูที่แตกต่างกัน และเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายด้านมากขึ้น
สำหรับการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ รศ.ดร.ดารณี กล่าวว่า
“ประทับใจมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เพราะมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกัน ทั้งครูและโรงเรียนในท้องถิ่นที่มีความยากลำบาก และมีการสืบทอดวัฒนธรรมมีอาจารย์ที่เกษียณไปแล้วมาทำงานกับอาจารย์รุ่นใหม่ ตรงนี้คือความโดดเด่นและเข้มแข็ง วัฒนธรรมองค์กรมีความสำคัญ เพราะถ้าเด็กเหล่านี้สัมผัสจิตวิญญาณของความเป็นครูไปเรื่อยๆ ตลอดสี่ปีมันก็จะฟังลึกเข้าไปในจิตใจของเด็ก เพราะเขาได้ตัวแบบที่ดี”
และยังมีการติดตามดูแลเอาใจใส่เด็ก ๆ ในโครงการอยู่เรื่อยมา
“เพราะเราไม่ได้ส่งเขาไปโดดเดียว เรายังส่งครูตามเข้าไป ขณะเดียวกันก็ไปพัฒนาโรงเรียนเพื่อรอเขาด้วย เพราะฉะนั้นปัญหาอุปสรรคอะไรที่เกิดขึ้นทาง กสศ. ได้ศึกษาวิจัยและได้รับข้อมูลเหล่านี้เข้ามาออกแบบร่วมกับสถาบันผลิต ว่ามีอะไรบ้างที่เราจะป้องกันความเสี่ยงและจะดำเนินการแก้ไข ดังนั้นตลอดโครงการก็จะมีการกำกับอย่างใกล้ชิดทำงานร่วมกันระหว่าง กสศ. กับสถาบันผลิต”
การทำงานตลอดปีที่ผ่านมาถือว่าน่าพอใจมากในภาพรวม เพราะอาจารย์ทุกท่านทำงานด้วยความยากลำบาก จากที่เคยรอนักศึกษามาสมัครเปลี่ยนเป็นออกไปค้นหานักศึกษาด้วยตนเอง ถึงแม้ว่าการลงพื้นที่บางแห่งอาจต้องขึ้นรถลงเรือลุยป่าฝ่าดงเข้าไปก็ตาม เพื่อไปพบบ้านนักศึกษาแต่ละหลัง แต่การลงพื้นที่ไปทำจริง ๆ ช่วยทำให้อาจารย์หลายท่านเห็นถึงความสำคัญของโอกาสทางการศึกษามากขึ้น จึงเป็นประโยชน์ของทั้งทางสถาบันผลิตและกสศ.เช่นกัน
สุดท้ายเมื่อโครงการจบเราก็จะมีครูผู้ใจรักในการสอนและกลับไปถ่ายทอดความรู้ที่บ้านเกิดของตนเองเพิ่มขึ้น
“เราอยากให้เขาภาคภูมิใจในท้องถิ่นของเขา แล้วเขาก็กลับไปบรรจุ เขาก็มีโอกาสบรรจุเป็นข้าราชการครู เพราะปกติแล้ววิถีชีวิตครูในชนบทก็เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว เราจะทำการอบรมบ่มเพาะเขา สร้างจิตวิญญาณของการเป็นครูให้เขาอยากกลับไป และเพิ่มทักษะต่าง ๆ รวมถึงทักษะใหม่ ๆ ในโลกปัจจุบันด้วยคือการใช้เทคโนโลยี”
2,358
Writer
- สโรชา เอิบโชคชัย (เมย์)
- นัก(อยาก)เขียนที่ชอบท่องโลกกว้างผ่านความจริงและตัวหนังสือ