จิตศึกษาเปลี่ยนชีวิต: ห้องเรียนที่เด็กพิเศษกลับมามีรอยยิ้มอีกครั้ง

จิตศึกษาเห็นผลช่วยเด็กพิเศษนิ่งขึ้น ดึงเด็กหลังห้องกลับมาเรียนทันเพื่อน

Share on

 1,673 

ชีวิตเด็กพิเศษเปลี่ยนไปเพราะความเข้าใจจากคนใกล้ตัว

“ก่อนหน้านี้มีเด็กพิเศษคนหนึ่งที่แม้จะสามารถใช้ชีวิตได้เช่นเดียวกับเด็กทั่วไป แต่สมาธิสั้น การเรียนการสอนรูปแบบทั่วไปไม่สามารถทำให้เขาจดจ่ออยู่กับบทเรียนหรือนั่งอยู่กับที่ได้ หลังจากที่ประยุกต์ใช้การเรียนการสอนรูปแบบใหม่ เขากลายเป็นเด็กที่มีสมาธิมากขึ้นและไม่ต้องอาศัยยาจากหมอมากอย่างที่เคย”

หลายคนอาจจะจินตนาการว่าเด็กพิเศษจะต้องเผชิญปัญหาด้านการเรียนรู้ รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมห้อง แต่สำหรับครูแอ๊ะหรือครูกมลลักษณ์ นนทะสร ครูของเด็กๆ ชั้นอนุบาล 3 การเป็นเด็กพิเศษไม่ได้ทำให้นักเรียนของเธอเรียนรู้ได้ช้ากว่าเพื่อน เพราะห้องเรียนของครูแอ๊ะใช้การเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าจิตศึกษา ทำให้เด็กนักเรียนทุกคนกลายเป็นศูนย์กลางของห้องเรียน

ห้องเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นหลัก

จุดเปลี่ยนในแนวทางการสอนของครูแอ๊ะเริ่มต้นจากการได้เข้าร่วมโครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อยโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มคุณภาพรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนขนาดเล็กในท้องถิ่นทัดให้เทียมกับโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองโดยเน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือทำเป็นหลัก

ครูแอ๊ะอธิบายว่าการเรียนการสอนรูปแบบจิตศึกษาคือการเน้นให้เด็กเกิดสมาธิและสนใจกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ สำหรับเด็กที่ชอบเสียงดนตรีเป็นทุนเดิม ครูแอ๊ะจะเลือกใช้เสียงและท่าทางเป็นสื่อการสอนหลัก หากมีกิจกรรมที่ต้องอาศัยการเปล่งเสียงอย่างการสวดมนต์ เด็กจะเต็มใจและภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้เป็นผู้กล่าวนำการสวดมนต์ให้กับเพื่อนๆ

ไม่มีความแตกต่างระหว่างเด็กหน้าห้องและเด็กหลังห้อง

“การเรียนการสอนรูปแบบนี้จะทำให้เด็กหลังห้องหันมาสนใจบทเรียนอีกครั้ง ทุกคนมีกติกาเดียวกันคือต้องยกมือเพื่อให้สัญญาณเพื่อนก่อนจะตอบคำถาม เราไม่ได้บังคับให้เด็กๆ ต้องตอบทุกคำถาม แต่อย่างน้อยเขาจะต้องแสดงความคิดเห็นและเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ฟังที่ดี นอกจากการฟังจะช่วยให้เด็กๆ ได้คิดวิเคราะห์ เด็กๆ ยังสามารถเลือกแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากความคิดเห็นของเพื่อนๆ เราพยายามให้กำลังใจเด็กที่ไม่กล้าแสดงออกด้วยการกล่าวชมหรือให้เพื่อนปรบมือเพื่อแสดงออกว่าเห็นด้วย ตำแหน่งหน้าห้องหรือหลังห้องจึงไม่สำคัญสำหรับการเรียนการสอนรูปแบบนี้ เพราะทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในห้องเรียน ไม่ว่าจะนั่งอยู่ส่วนใดของห้อง”

แม้ครูแอ๊ะจะเผชิญกับอุปสรรคระหว่างปรับรูปแบบการเรียนการสอนในช่วงแรก เพราะความเคยชินกับรูปแบบเดิมที่ทำมากว่า 27 ปี หรือความไม่เข้าใจในวิธีการกระทั่งต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อบรมเป็นครั้งที่สอง แต่เมื่อครูแอ๊ะเข้าใจวิธีการอย่างถ่องแท้ ห้องเรียนของครูแอ๊ะจึงกลายเป็นสถานที่เพื่อการเรียนรู้อย่างแท้จริง

อย่างการทดลองเรื่องการหยดสีดำลงในน้ำทำให้เกิดสีน้ำเงินกระจายอยู่ตามภาชนะ จากเดิมที่เด็กๆ จะจดบันทึกผลการทดลองตามที่ครูแอ๊ะอธิบาย การเรียนการสอนรูปแบบใหม่กระตุ้นให้เด็กๆ คิดวิเคราะห์กระทั่งได้คำตอบด้วยตนเองว่าน้ำเป็นตัวทำละลาย เด็กๆ จึงเพลิดเพลินกับการสังเกต ตั้งคำถามและค้นหาคำตอบโดยมีครูให้ความช่วยเหลือ

โลกแห่งการเรียนรู้ของเหล่านักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์

ที่โรงเรียนบ้านท่าชะมวง จังหวัดสตูล ครูนัฐพงษ์​ ดินนุ้ย ครูชั้นอนุบาล 2 ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเช่นกัน ห้องเรียนของครูนัฐพงศ์จึงเต็มไปด้วยเด็กๆ ผู้มีหัวใจของความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเด็กทั่วไป เด็กพิเศษหรือเด็กออทิสติก เพราะการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของเด็กทุกคน ครูจึงทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำและเฝ้าดูเด็กๆ วิเคราะห์ข้อสรุปจากการทดลองด้วยตนเอง ต่างจากการเรียนการสอนรูปแบบเดิมที่เด็กต้องรับหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดีและลงมือปฏิบัติหลังจากที่เห็นแบบอย่างจากครู

“เด็กๆ ต่างต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพราะเขาคิดได้ด้วยตนเองหลังจากเห็นการทดลองที่อยู่ตรงหน้า เราจึงไม่จำเป็นต้องบังคับให้ใครเข้ามามีส่วนร่วมกับการเรียนการสอน เรายังเปิดกว้างให้เด็กๆ สามารถพูดภาษาท้องถิ่นได้ เพราะการบังคับให้ใช้ภาษากลางถือเป็นการตีกรอบให้เด็กๆ ขาดอิสระในการแสดงความคิดเห็น เด็กๆ จึงตั้งใจและเต็มใจที่จะให้ความร่วมมือกับเรา เมื่อเด็กๆ สามารถคิดวิเคราะห์ได้มากขึ้นและนำความรู้ที่ได้จากในห้องเรียนไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เราจึงมีความสุขและภูมิใจที่ได้เห็นพัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็กๆ”

ครูนัฐพงษ์เล่าด้วยความภาคภูมิใจ

เพราะมีความเข้าใจจากคนใกล้ตัว

อาจารย์ดารณี อุทัยรัตนกิจ อาจารย์ผู้ริเริ่มการรับเด็กออทิสติกเข้าเรียนในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เล่าถึงความสำเร็จในการผลักดันให้เด็กพิเศษที่เคยมีปัญหาในการเข้าสังคมให้กลายเป็นบัณฑิตสาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์ดารณีเริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจให้กับครูและเด็กในโรงเรียน รวมทั้งยังได้ความช่วยเหลือจากครูการศึกษาพิเศษ แม้จะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยในการเรียนรู้ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือความรัก ความเข้าใจและความเมตตาจากคนใกล้ตัว

ความเข้าใจถึงความถนัดของเด็กออทิสติกจะทำให้พวกเขาสามารถเข้าสังคมได้ เพราะเด็กออทิสติกต่างมีความถนัดต่างกันไป บางคนอาจจะวาดภาพเก่ง บางคนอาจจะเขียนตัวอักษรได้งดงามหรือบางคนอาจจะถนัดที่จะให้กำลังเพื่อนในกลุ่ม อาจารย์ดารณียังเล่าถึงความขัดแย้งอย่างการที่เด็กออทิสติกผลักเด็กคนอื่น แม้แม่ของเด็กที่ถูกผลักจะไม่พอใจและเห็นว่าเป็นการทำร้ายร่างกาย แต่เด็กที่ถูกผลักกลับเข้าใจดีว่าเด็กออทิสติกต้องการเล่นด้วย ความขัดแย้งจึงระงับด้วยความเข้าใจจากเพื่อน ทำให้เด็กออทิสติกสามารถเข้าสังคมไม่ต่างจากเด็กทั่วไป

ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเป็นเด็กทั่วไปหรือเด็กพิเศษ ห้องเรียนที่เต็มไปด้วยความเข้าใจและให้ความสำคัญกับผู้เรียนทุกคนจะไม่ผลักให้เขาต้องกลายเป็นเด็กพิเศษ แต่จะร่วมกันผลักดันให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของห้องเรียนและสามารถเรียนรู้ได้โดยอาศัยศักยภาพของเขา มากกว่าจะเป็นการบังคับให้ท่องจำตามการเรียนการสอนรูปแบบเดิม

 1,674 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า